ไหว้พระ 9 วัด ท่องวิถีชีวิตชาวเชียงคาน

ไหว้พระ 9 วัด ท่องวิถีชีวิตชาวเชียงคาน
อำเภอเชียงคานนับว่าเป็นอำเภอยอดฮิตที่มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เช่น ภูทอกแก่งคุดคู้หรือท่องเที่ยวแบบช้อปชิลล์ที่ ถนนคนเดินเชียงคาน รวมถึงศาสนสถานที่น่าค้นหาอีกมากมาย
ชาวเชียงคาน มักจะตักบาตรข้าวเหนียวในยามเช้าของทุกวัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่มีมาแต่ช้านานจากเมืองหลวงพระบาง และในการทำบุญไหว้พระ 9 วัด นั้น เป็นวิถีชีวิตของชาวเชียงคานที่เหมือนๆกับชาวไทยทั่วไป ที่ถือว่า เลข 9 เป็นเลขมงคล เพราะหมายถึงความก้าวหน้าในด้านต่างๆของชีวิตนั่นเอง หากจะมาเที่ยวเชียงคานแล้ว การทำบุญไหว้พระ 9 วัด ก็ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งของนักท่องเที่ยวเช่นกัน
เส้นทางไหว้ พระ 9 วัด ในอำเภอเชียงคาน มีที่ไหนบ้าง และใครไม่รู้จะเริ่มต้นที่วัดไหน มาเริ่มกันเลยย

วัดท่าคก

วัดที่ 1 วัดท่าคกชมพระอุโบสถก่ออิฐปูน ศิลปะล้านช้างวัดเก่าแก่และงดงาม อยู่คู่เมืองเชียงคานมานานร่วม 200 ปี สร้างเมื่อปี พ.ศ.2395 โดยพระศรีอรรคฮาด (สีทา) เจ้าเมืองเชียงคานในสมัยนั้นร่วมกับชาวบ้าน เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินสยามมิให้ฝรั่งเศสรุกล้ำ ด้านหน้าอุโบสถและขอบหน้าต่างมีศิลปะลวดลายแบบฝรั่งเศส ซึ่งคาดว่าคงได้รับอิทธิลพลจากสมัยที่ฝรั่งเศสยึดครองดินแดนฝั่งลุ่มน้ำโขง (ลาว) เป็นเมืองขึ้น

วัดศรีพนมมาศ (วัดโท่ง)

วัดที่ 2 วัดศรีพนมมาศ (วัดโท่ง)ชมความร่มรื่นของวัด กราบไหว้พระวัดป่า
ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2497 โดยชาวเชียงคานมีพระมหาบุญหนัก สิริปุญโญ เป็นประธานฝ่ายพระสงฆ์ เป็นวัดที่มีเมรุ อุโบสถ ศาลาการเปรียญ และกำแพงวัดงดงามด้วยภาพพุทธประวัติ ฝีมือช่างชาวเชียงคานมีประตูเข้าออก 2 ด้าน ด้านหนึ่งเข้าทางหน้าศาลา ประตูที่ 2 เข้าทางประตูศาลา บำเพ็ญกุศลประตูทั้งสองของวัดจะอยู่ทางทิศเหนือ ปัจจุบัน กำลังสร้างเจดีย์ศรีพนมมาศ

วัดป่าใต้

วัดที่ 3 วัดป่าใต้ชมพระอุโบสถเก่าแก่แบบหลวงพระบาง
งานภาพจิตกรรมฝาผนังในอุโบสถเป็นเรื่องราวพุทธประวัติ โดยฝีมือช่าวชาวเชียงคานแท้ๆ ดังนั้นจึงมีเสน่ห์แตกต่างจากวัดอื่นๆ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2415 เดิมเป็นวัดป่าสำหรับพระธุดงค์จำพรรษาต่อมาพระครูศรสิริสุโขพร้อมด้วยชาวบ้านร่วมกันสร้างให้มั่นคงถาวร

วัดมหาธาตุ

วัดที่ 4 วัดมหาธาตุชมวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเชียงคาน
ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2197 เชื่อว่าสร้างขึ้นเป็นวัดแรกของอำเภอเชียงคาน และเป็นวัดที่เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของเมืองเชียงคาน อุโบสถเป็นไม้เก่าแก่รูปแบบล้านช้าง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย (หลวงพ่อใหญ่) บริเวณหน้าจั่วมีภาพเชียนบอกเล่าเรื่องราวประวัติเมืองเชียงคาน

วัดมัชฌิมาราม (วัดป่ากลาง)

วัดที่ 5 วัดมัชฌิมาราม (วัดป่ากลาง)
เดิมเป็นวัดเล็กๆ 2 วัด คือ วัดกลางและวัดป่า แต่วัดกลางซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงถูกน้ำกัดเซาะตลิ่งพังเข้ามาถึงวัดชาวบ้านจึงย้าย 2 วัด รวมเป็นวัดเดียวกัน เมื่อปี พ.ศ.2466 จึงเรียกชื่อว่า "วัดป่ากลาง" ต่อมาสมัย พระมหาเกียรติ วุฑฒิสาโร เป็นเจ้าอาวาสจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดมัชฌิมาราม" แต่ชาวเชียงคานทั่วไป ก็ยังเรียกติดปากว่าวัดป่ากลางเช่นเคย

วัดสันติวนาราม

วัดที่ 6วัดสันติวนารามป่าสงบเงียบเหมาะแก่การนั่งวิปัสสนากรรมฐาน
จุดเด่น คือ มณฑลประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และบริเวณรอบอุโบสถมีพระพุทธรูปสีทองอร่ามงดงามประดิษฐานเรียงรายนับร้อยองค์ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2482 โดยพระครูพิทักษ์สังฆการ เป็นผู้นำชาวบ้านสร้างขึ้น เดิมชื่อว่า "วัดป่าศิริพิทักษ์อรัญวาส" ต่อมาพระพิมลธรรมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "วัดสันติวนาราม" ตามสภาพสถานที่ตั้งซึ่งเป็นป่าสงบเงียบเหมาะแก่การนั่งวิปัสสนากรรมฐาน ชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดป่าช้าหรือวัดโนนป่าช้า

วัดภูช้างน้อย

วัดที่ 7 วัดภูช้างน้อยจุดชมภูมิทัศน์ที่สวยงาม
ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2410 มีเนื้อที่ 500 ไร่ อาคารเสนาสนะประกอบด้วยวิหารและกุฏิพระสงฆ์ ซึ่งเป็นอาคารไม้ 1 หลัง ตึก 3 หลัง วัดภูช้างน้อยเป็นจุดชมทัศนียภาพที่ดีแห่งหนึ่งของเชียงคาน โดยสามารถมองเห็นทั่วเมืองเชียงคาน มีบันไดนาค 177 ขั้น และมีทางจักรยานขึ้นไปถึงยอดภู

วัดโพนชัย

วัดที่ 8 วัดโพนชัยชมอุโบสถที่มีสถาปัตยกรรมล้านช้าง ผสมสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์
สร้างเมื่อปี พ.ศ.2443 โดยมีพญาผ่อจานญา (ญาครูญา) และพระยาศรีอรรคฮาด ซึ่งเป็นเจ้าเมืองเชียงคานในสมัยนั้นร่วมกันสร้าง ตั้งอยู่ระหว่างซอย 2-3 อุโบสถที่มีรูปสถาปัตยกรรมล้านช้าง ผสมสถาปัตยกรรมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

วัดศรีคุณเมือง

วัดที่ 9 วัดศรีคุณเมืองชมศิลปะแบบล้านนาและล้านช้าง
สร้างเมื่อ พ.ศ.2485 มีกำแพงแก้วล้อมรอบตัวอุโบสถ เป็นแหล่งรวมงานศิลปะทั้งแบบล้านนาและล้านช้าง ดังจะเห็นได้จากโบสถ์ ซึ่งหลังคาลดหลั่นอย่างศิลปะล้านนา ศิลปวัตถุที่สำคัญหลายชิ้น เช่น พระพุทธรูปไม้จำหลัก ลงรักปิดทอง ปางประทานอภัยแบบล้านช้าง พระพุทธรูปดังกล่าวมีพระเกศาเป็นปุ่มแหลมเล็กพระกรรณค่อนข้างแหลมและยาว สันนิษฐานว่ามีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 24-25 นอกจากนี้ยังมีธรรมาสน์แกะสลักไม้ลงรักปิดทองทุกด้าน ที่พนักหลังมียอดคล้ายปราสาท ด้านหน้าโบสถ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่เต็มหน้าบ้าน ภาพทั้งหมดเป็นภาพนิทานชาดก ชุดพระเจ้าสิบชาติซึ่งวาดขึ้นใหม่แทนของเดิม
แผนที่ตำแหน่งศาสนสถานสำคัญในจังหวัดเลย{mapศาสนสถานmap}

นอกจากทำบุญไหว้พระ 9 วัด ตามเส้นทางข้างต้นแล้ว อำเภอเชียงคาน ยังมี ตามรอยพระพุทธบาท ที่วัดพระพุทธบาทภูควายเงินและวัดท่าแขกที่เป็นวัดเก่าแก่ ริมแม่น้ำโขง ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายอีกด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กองส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)