เตือนภัย "ตาลัส" ถล่มเหนือ-อีสานปภ.เผยกลุ่มพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมรับมือดินถล่ม ดินไหล และน้ำป่าไหลหลาก ในเขตพื้นที่จังหวัดเลย ได้แก่ อำเภอเมืองเลย อำเภอด่านซ้าย อำเภอวังสะพุง อำเภอนาแห้ว อำเภอปากชม อำเภอภูเรือ อำเภอภูหลวง และอำเภอเชียงคาน
18 ก.ค.60 - นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี พบว่า ในช่วงวันที่ 18 – 19 กรกฎาคม 2560 อิทธิพลจากพายุโซนร้อน “ตาลัส” บริเวณประเทศลาวตอนบน ส่งผลให้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยวัดปริมาณน้ำฝนได้มากกว่า 150 มิลลิเมตร ระดับน้ำในคลองเพิ่มสูงขึ้น และชั้นดินอุ้มน้ำไว้มาก อาจทำให้เกิดดินถล่ม ดินไหล และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำกก และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสาน 10 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย (อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ อำเภอเทิง อำเภอเวียงแก่น อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ลาว และอำเภอแม่สรวย) เชียงใหม่ (อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย อำเภอไชยปราการ อำเภอสันทราย อำเภอแม่แจ่ม อำเภอฮอด อำเภอพร้าว อำเภอแม่แตง อำเภอแม่ออน อำเภอจอมทอง และอำเภออมก๋อย) น่าน (อำเภอเมืองน่าน อำเภอนาน้อย อำเภอเวียงสา อำเภอปัว อำเภอบ่อเกลือ อำเภอท่าวังผา อำเภอเชียงกลาง อำเภอแม่จริม และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ) แพร่ (อำเภอเมืองแพร่ อำเภอร้องกวาง อำเภอลอง อำเภอวังชิ้น อำเภอเด่นชัย และอำเภอสอง) พะเยา (อำเภอปง) อุตรดิตถ์ (อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ อำเภอท่าปลา อำเภอลับแล อำเภอน้ำปาด อำเภอบ้านโคก และอำเภอฟากท่า)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ เลย (อำเภอเมืองเลย อำเภอด่านซ้าย อำเภอวังสะพุง อำเภอนาแห้ว อำเภอปากชม อำเภอภูเรือ อำเภอภูหลวง และอำเภอเชียงคาน) หนองคาย (อำเภอสังคม)
ภาคตะวันออก 2 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอมะขาม อำเภอขลุง อำเภอเขาคิชฌกูฏ อำเภอโป่งน้ำร้อน และอำเภอสอยดาว) ตราด (อำเภอบ่อไร่ อำเภอสมิง และอำเภอเกาะช้าง) รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 9 พิษณุโลก เขต 10 ลำปาง เขต 14 อุดรธานี เขต 15 เชียงราย และเขต 17 จันทบุรี เตรียมพร้อมรับมือดินถล่ม ดินไหล และน้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 18 – 19 กรกฎาคม 2560 โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยง ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ที่ลาดเชิงเขา ชายฝั่งทะเล และจุดอ่อน น้ำท่วมขัง พร้อมตรวจสอบเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ คันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง
สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด รวมถึงขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากระดับน้ำท่วมถึง ตลอดจนหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติจะได้อพยพหนีภัยทันท่วงที ทั้งนี้ ผู้ประสบภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
ไทยโพสต์