ตำนานพญาช้าง นางผมหอม เรื่องราวความรัก ในลุ่มน้ำเลย ตำนานที่อยู่คู่ชาวภูหลวงมาอย่างยาวนาน
Gotoloei อยากเล่าเรื่องแบบให้เห็นภาพ จึงได้จัดทำแบบ ภาพวาดมาให้ได้ดูประกอบกันนะครับตำนานนี้ได้เค้าโครงมาจากนิทานชาดก มีคนเฒ่าคนแก่เล่าขานกันในท้องถิ่นอำเภอภูหลวง จังหวัดเลย สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันในตำบลภูหอ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย มีหญิงสาวคนหนึ่งหน้าตาสวยงามเป็นที่เลื่องลือในละแวกนี้ ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ๆ กับภูหอ มาวันหนึ่งนางไปเที่ยวป่าบริเวณภูหอกับเพื่อนหลายคน นางได้เพลิดเพลินกับการเที่ยวป่าจนเกิดหลงป่า และรู้สึกเมื่อยล้าอ่อนแรงหิวน้ำ นางก็เลยได้ไปดื่มน้ำรอยเท้าช้างซึ่งมีน้ำปัสสาวะของช้างอยู่ด้วย ต่อมานางได้ตั้งท้องคนคลอดลูกออกมาเป็นผู้หญิงสวยงามมาก และที่สำคัญผมของเธอจะมีกลิ่นหอม จึงตั้งชื่อว่านางผมหอม ต่อมานางได้ออกไปเที่ยวป่าอีก ก็เกิดพลัดหลงป่าอีก และได้กินน้ำในรอยเท้าของวัวป่า เกิดตั้งท้องขึ้นอีกและคลอดลูกออกมาเป็นคนที่สอง ตั้งชื่อว่า นางลุน (ภาษาท้องถิ่นว่า ทีหลัง)
วันเดือนปีผ่านไปหลายปี นางผมหอมและนางลุนเติบโตเป็นสาว นางทั้งสองอยากออกไปเที่ยวป่า อยากพบพ่อ ซึ่งเข้าใจว่าอาศัยอยู่ในป่าภูหอแห่งนั้น ก่อนไปนางผมหอมได้ตั้งจิตอธิษฐานก่อนหลับนอนว่า หากตนเป็นลูกสาวของพญาช้างจริง ก็ขอให้นิมิตเห็นพญาช้าง ในคืนนั้นนางผมหอม ก็ได้นิมิตเห็นพญาช้างดังที่ได้อธิษฐานจิต เช้าตื่นมาได้เล่าให้แม่ฟัง และอยากไปเที่ยวพา จึงขออนุญาตแม่ ทั้งสองก็เดินทางไปเที่ยวป่าหาพ่อ ได้พบพญาช้างผู้เป็นพ่อจริง รูปร่างใหญ่โต งายาว พญาช้างเห็นก็วิ่งเข้าใส่นางทั้งสอง
นางทั้งสองกลัวจึงยกมือไหว้ขอชีวิตและได้เล่าเรื่องให้พญาช้างฟัง พญาช้างได้ฟังก็ใจอ่อน และเกิดสงสัยว่าเป็นลูกของตนจริงหรือไม่ จึงตั้งจิตอธิษฐานว่าถ้านางทั้งสองเป็นลูกของตนจริงก็ขอให้ปีนขึ้นเหยียบงาของตนและได้ขึ้นบนหลังได้ นางทั้งสองก็ยกมือไหว้พญาช้าง แล้วทำการปีนป่ายขึ้นหลังพญาช้าง
ปรากฏว่านางผมหอมปีนขึ้นได้ ส่วนนางลุนปีนขึ้นไม่ได้ เพราะว่าเป็นลูกวัวป่า เมื่อรู้ว่านางลุนไม่ใช่ลูกของตนก็รู้สึกโกรธ และยกเท้าขึ้นกระทืบนางลุนตาย นางผมหอมร้องขอก็ไม่ทันการ ทำให้นางเศร้าโศกเสียใจมาก พญาช้างปลอบประโลมนางอยู่ตั้งนานและขอให้ขึ้นไปอยู่กับตนในป่าภูหอ ในที่สุดนางผมหอมก็ยอมไป พญาช้างพานางขึ้นไปบนภูหอ แล้วเกณฑ์บรรดาช้างบริวารมาช่วยกันทำปราสาทให้กับนางผมหอมอย่างสวยงามและเลี้ยงดูนางอย่างดี
วันเวลาล่วงมาหลายปี นางผมหอมเติบโตเป็นสาวอย่างเต็มตัว นางผมหอมชอบลงไปอาบน้ำในหนองบัว (ปัจจุบันตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัว ต.ภูหอ อ.ภูหลวง จ.เลย) และลำธารปากห้วยหอม (ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านห้วยหอม ต.หนองคัน อ.ภูหลวง จ.เลย) วันหนึ่งในขณะอาบน้ำ นางได้รำลึกถึงความรักตามประสาคนหนุ่มสาว นางจึงเอาเส้นผมสามเส้นใส่ในผอบทองพร้อมเขียนสารรักลอยน้ำไปตามแม่น้ำเลย (ต้นกำเนิดแม่น้ำเลยอยู่ในพื้นที่ อำเภอภูหลวง)
กล่าวถึงหนุ่มรูปงาม นามว่า ท้าว วรจิตร เป็นลูกชายของเจ้าฟ้าฮ่มขาว (ปัจจุบัน บ้านทรายขาว ต.ทรายขาว อ.วังสะพุง จ.เลย) ลงไปอาบน้ำพร้อมข้าทาสบริวาร ที่ท่าน้ำแม่น้ำเลย ในขณะอาบน้ำมองเห็นผอบทองลอยน้ำวนไปวนมา ท้าววรจิตรก็เอาผอบทองมาเปิดดูเส้นผมพร้อมสารรักของนางผมหอม เมื่ออ่านดูแล้วทำให้จิตใจหวั่นไหว และคิดถึงเจ้าของสารรักยิ่งนัก จากนั้นก็ได้เขียนสารรักตอบลงในผอบทอง ก่อนจะส่งสาร ได้อธิษฐานจิตว่า หากเจ้าของเส้นผมและสารรักอยู่ในแห่งหนใด ก็ขอให้สารรักนี้ลอยน้ำไปในที่แห่งนั้น ปรากฏว่าผอบทองลอยน้ำทวนน้ำขึ้นไปยังต้นน้ำ ณ ที่ปากห้วยหอม ท้าววรจิตรจึงกลาบลาพ่อแม่ เพื่อออกเดินป่า ตามหานางผมหอมที่ผอบลอยทวนน้ำขึ้นไป พอถึงวันเจ็ดวันถ้วน
นางผมหอมก็ได้ลงมาอาบน้ำตรงปากน้ำห้วยหอมอีก นางผมหอมเห็นผอบทองก็เปิดอ่านดู ต่อมาท้าววรจิตรได้พบนางผมหอม ได้เกิดความรักขึ้น
ท้าววรจิตรจึงได้ครองรักกับนางผมหอมบนปราสาทนั้นหลายสิบปี จนมีบุตรชายด้วยกัน
ต่อมาพญาช้างทราบข่าวรู้สึกเสียใจและโกรธ จึงได้ใช้งาแทงและงัดภูเขาทลายลงมาจนหินบนภูเขาเกลื่อนกลาดดังเป็นรูปภูหอ ที่ปรากฏปัจจุบัน พญาช้างเสียใจน้ำตาไหลนองจนเป็นที่มาของหนองน้ำแห่งหนึ่งในภูหอ ชื่อหนองน้ำตาช้าง นางหมอหอมทราบข่าวก็มาหาพ่อและปลอบใจพ่อ
พ่อก็ได้สั่งเสียว่า ถ้าพ่อตายไป ก็ให้เอางาและกระดูกของพ่อมาทำเป็นเรือแล้วนำพาลูกและสามีกลับเมือง จากนั้นพญาช้างก็ได้สินลมปราณลงตรง เดิ่น (ลาน) ช้างตาย (ปัจจุบันเป็นลานกว้างใหญ่อยู่เชิงภูหอ)เมื่อเก็บศพพ่อเสร็จก็ได้เอางาและกระดูกทำตามที่พ่อสั่งเสียกลับเมือง
ระหว่างทางได้กับเจอนางโพง นางโพงได้ดึงนางผมหอมตกน้ำ แล้วแปลงเป็นนางผมหอมเข้าเมือง
แต่นางผมหอมไม่ตายได้มาอาศัยอยู่กับยาย และให้ยายพาลูกชายของตนมาพบได้เล่าความจริงให้ลูกฟังทั้งหมดว่านางผมหอมที่อยู่กับพ่อนั้นไม่ใช่ตัวจริง
ฝ่ายลูกชายจึงเล่าเรื่องราวให้ผู้เป็นพ่อทราบ
และท้าววรจิตรจึงฆ่านางโพงตาย
แล้วรับเอานางผมหอมเข้ามาอยู่ด้วยกันที่เมืองอย่างมีความสุขตลอดมาและต่อมาท้าววรจิตรได้ขึ้นครองเมืองแทนบิดาซึ่งถึงแก่อนิจกรรมปกครองเมืองด้วยความผาสุกตลอดอายุขัย
ผู้ให้ข้อมูลตำนาน อ.ทองหล่อ ศรีหนารถ, นายประพนธ์ พลอยพุ่ม, นายทองแดง ธรรมกุล, นายหรุ่น พิมพ์เสนา, นายวิเชียร เดชวงศิลป์, สมุนพญาช้างนางผมหอมหมู่บ้านวัฒนธรรมหนองบัว