โครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่าภูหลวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย

ตำบล เลยวังไสย์ อำเภอ ภูหลวง เลย ประเทศไทย
ความเป็นมา :

1. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงมีพื้นที่กว้างใหญ่ สภาพด้านนอกโดยรอบมีหมู่บ้านชุมชนล้อมรอบหลายหมู่บ้าน ราษฎรได้มีการบุกรุกขยายพื้นที่ทำกินเพื่อปลูกพืชไร่ เช่น ลูกเดือย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ข้าว เป็นต้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่ราษฎรได้บุกรุกขยายพื้นที่ทำกินนั้น เดิมเป็นแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ และแหล่งดินโป่งของช้างป่า เมื่อถูกรบกวนจากมนุษย์ และแหล่งอาหารหากินไม่เพียงพอต่อความต้องการของช้างป่า ประกอบกับพื้นที่ที่ราษฎรได้ปลูกไว้ส่วนใหญ่เป็นพืชที่เป็นอาหารช้างป่าได้อย่างดี จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ช้างป่าได้ออกไปหากินนอกเขตฯ และทำความเสียหายต่อพืชไร่ของราษฎรที่ปลูกไว้ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ซึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอวังสะพุง และอำเภอภูหลวง ได้ประสบกบปัญหาช้างป่าได้ออกไปหากินนอกเขตฯ และทำความเสียหายทำลายพืชไร่ของราษฎรที่ปลูกไว้อยาเป็นประจำ โอกาสที่ช้างป่าจะถูกทำร้ายเสียชีวิตจึงมีมาก
2. สำนักราชเลขาธิการ โดยท่านผู้หญิงมนัสนิตย์ วณิกกุล ราชเลขานุการในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ฝ่ายบริหารงานทั่วไป มีหนังสือที่ รล 0010/1428 ลงวันที่ 9 เมษายน 2542 ถึงอธิบดีกรมป่าไม้ แจ้งว่า ด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำริให้ดำเนินการโครงการปลูกพืชอาหารช้าง ในพื้นที่ป่าธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง และเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ช้างออกไปหากินนอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งช้างจะออกไปทำความเสียหายให้กับพืชสวน ไร่นา ของชาวบ้านและเป็นเหตุให้ช้างถูกทำร้ายถึงกับชีวิตได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในอันที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่าภูหลวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นแปลงปลูกทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์


วัตถุประสงค์ :
1. เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริและเป็นการเฉลิมพระเกียรติ น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรที่ได้รับความเสียหายจากช้างป่าทำลายพืชไร่ และไม่ให้ช้างป่าถูกทำร้ายเสียชีวิต
2. เพื่อเพิ่มแหล่งอาหารและแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของช้างป่าในเขตฯ
3. เพื่อป้องกันไม่ให้ช้างป่าออกไปหากินนอกเขตฯ และทำความเสียหายทำลายพืชไร่ของราษฎรที่ปลูกไว้ ให้ได้รับความเสียหาย
4. เพื่อป้องกันไม่ให้ช้างป่าถูกทำร้ายเสียชีวิต
5. เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ช้างป่ามิให้สูญพันธุ์ไป
6. เพื่อเป็นการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งบริเวณทำโป่งเทียม

พื้นที่เป้าหมาย :
การดำเนินการมีเป้าหมายดังนี้
1. พื้นที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง
2. พื้นที่นอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า รวมพื้นที่โครงการประมาณ 476,000 ไร่

งบประมาณในการดำเนินการ :
1. งบประมาณจัดสรรจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
2. งบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ( กปร.)

ระยะเวลาในการดำเนินการ :
โครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่าภูหลวงอันเนื่องมาจกาพระราชดำริ มีระยะเวลาในการดำเนินการตั้งแต่ปี งบประมาณ 2543 - 2556 รวมระยเวลา 14 ปี และขณะนี้อยุ่ระหว่างดำเนินการต่อเนื่อง

กรอบแนวคิดการพัฒนา :
1. แผนงานเสริมสร้างแหล่งน้ำ และแหล่งอาหารให้กับสัตว์ป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงโดยการปลูกและบำรุงพืชอาหารช้าง จัดทำแหล่งน้ำให้กับสัตว์ป่า โดยการจัดทำฝายชะลอความชุ่มชื้น (Check dam) แบบต่างๆ จัดทำโป่งเทียมเพื่อเพิ่มแหล่งเกลือแร่ให้กับสัตว์ป่า
2. แผนงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยการประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกให้กับประชาชน นิสิต นักศึกษา เยาวชน ให้ตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่ป่า ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านของสัตว์ป่าและจัดทำค่ายศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ ห้องเรียนธรรมชาติ ประจำจังหวัดเลย
3. แผนงานด้านข้อมูลพื้นฐาน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องเที่ยงตรงเกี่ยวกับช้างป่าโดยการแจกแจง ตรวจนับเป็นรายตัว แบบ Direct Count แยกโดยละเอียดกว่าแต่ละกลุ่ม (ครอบครัว) มีจำนวนเท่าไหร่ แต่ละตัวมีลักษณะอย่างไร สีผิว หาง หู ขนาดส่วนสูง โดยยึดแนวทางปฏิบัติที่มีการดำเนินการที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นแนวทางดำเนินการ
4. แผนการป้องกันช้างป่าออกหากินนอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จากการที่ได้ศึกษาดูงานการดำเนินการป้องกันช้างป่าออกไปหากินในไร่สับปะรด ที่โครงการฯกุยบุรี มีการใช้ลวดกระตกไฟฟ้าซึ่งใช้ไฟฟ้าแบตเตอรี่ขนาด 12 โวลท์นับว่าได้ผลในระยะหนึ่ง ซึ่งดำเนินการควบคู่ไปกับการส้รางแหล่งน้ำแหล่งอาหาร และโป่งเทียมในพื้นที่ป่าลึกให้มากขึ้นเพื่อให้ช้างเปลี่ยนเส้นทางหากิน ในปีงบประมาณ 2547 ได้ขอรับการสนับสนุนจัดทำรั้วป้องกันสัตว์ป่าแบบถาวร โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงาน เพื่อปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด 12 โวลท์ เป็นระยะทาง 20 กิโลเมตร ขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้ว สมารถป้องกันไม่ให้ช้างป่าออกไปหากินนอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ทางด้านทิศตะวันออกที่เคยมีปัญหาได้โครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่าภูหลวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเลย
ผลการดำเนินงาน :
1. จัดทำฝายชะลอความชุ่มชื้นแบบกึ่งถาวร
2. จัดทำฝายชะลอความชุ่มชื้นแบบผสมผสาน
3. ปลูกพืชอาหารช้างขยายพื้นที่แหล่งอาหารของช้างป่า
4. ถางวัชพืช บำรุงป่า ฟื้นฟูอาหารช้างและป่าเปียก
5. จัดทำแนวกันไฟ
6. ปลูกป่าทั่วไป
7. จัดทำโป่งเทียม
8. จัดหาแหล่งน้ำ
9. การสร้างจิตสำนึก

สภาพปัจจุบัน :
1. ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
1. 1 แหล่งน้ำและแหล่งอาหารไม่เพียงพอต่อจำนวนช้างป่าที่เพิ่มขึ้น จากการเดินติดตามโขลงช้างป่าในช่วงปี 2549 และปี 2550 พบประชากรช้างป่าจำนวน 66-81 ตัว และ 75-95 ตัว ตามลำดับ โดยพบช้างเพศผู้ไม่น้อยกว่า 10 ตัว ( เฉพาะที่จำแนกได้ชัดเจน) เป็นช้างงา 5 ตัว และทุกโขลงจะมีลูกช้างอายุ 1-2 ปี โดยมีอัตราการเพิ่มของประชากรช้างป่าร้อยละ 9.48
1. 2 พื้นที่ถิ่นอาศัยที่เหมาะสมของช้างป่าในช่วงฤดูแล้งไม่เพียงพอต่อจำนวนช้างป่า
1. 3 ปัญหาไฟป่าโดยมีสาเหตุมาจากน้ำมือของมนุษย์ โดยสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ป่า วึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของช้างป่าและสัตวืนานาชนิด

2. ด้านการมีส่วนร่วม
ปัญหาด้านการทำปศุสัตว์ของราษฎร เช่น วัว ควาย เข้ามาเลี้ยงภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ซึ่งสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นเข้าไปรบกวนการดำรงชีวิตของช้างป่า ทั้งด้านแหล่งน้ำและแหล่งอาหาร ราษฎรบางรายเจตนาทำลายรั้วไฟฟ้าเพื่อที่นำสัตว์เลี้ยงเข้ามาเลี้ยงภายในเขตเป็นสาเหตุทำให้ไฟฟ้ารั่ว ช้างป่าจึงสามารถออกไปนอกเขตได้

3. ด้านการบริหารจัดการช้างป่า
3. 1 ปัญหาช้างป่าออกไปหากินนอกเขตฯ และทำความเสียหายต่อพืชไร่ของราษฎร
3. 2 ช้างป่าถูกทำร้ายจากราษฎรจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต จากการที่ช้างป่าออกไปหากินนอกเขตและเข้าไปทำรายพืชไร่ของราษฎรในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ราษฎรบางรายใช้อาวุธปืนในการขับไล่ให้ช้างออกจากพื้นที่การเกษตรของตน จนทำให้ช้างป่าได้รับบาดเจ็บและตายเนื่องจากพิษบาดแผล

แนวทางการดำเนินงานในอนาคต :
1. ขยายพื้นที่เหมาะสมแก่การอยู่อาศัยของช้างป่า ซึ่งมีอัตราการเพิ่มของประชากรช้างป่า
ร้อยละ 9.84 จากการเพิ่มจำนวนของช้างป่าอย่างรวมเร็ว พื้นที่ที่เหมาะสมที่มีอยู่จึงไม่เพียงพอต่อจำนวนช้างที่เพิ่มขึ้น
2. ขยายแนวรั้วไฟฟ้ารอบเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง
3. เพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำแหล่งอาหารของช้างป่า
4. เน้นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ช้างป่า
5. ปัญหาในอนาคตเนื่องจากจำนวนประชากรช้างป่า จึงหาวิธีการที่จะจัดการกับประชากรช้างป่า โดยการเคลื่อนย้ายช้างป่าไปแหล่งที่อยู่ใหม่ที่สามารถเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของช้างป่าได้

ที่มาของข้อมูล :
เอกสารประกอบการเดินทางตรวจเยี่ยมโครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่าภูหลวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย และโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ผานาง-ผาเกิ้ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเอราวัณ จังหวัดเลย ระหว่างวันที่ 24-25 ของนายพลากร สุวรรณรัฐ
http://www.rdpbproject.com/