รถไฟโบราณปู๊นปู๊น แบบนี้ก็มีที่เชียงคาน

เชียงคาน จังหวัดเลย
อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เมืองท่องเที่ยว อีกแห่งที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลไปเยือนไม่น้อย เพื่อชมวิถีชีวิตชาวเชียงคานและแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่ขึ้นชื่อคือ “ทะเลหมอกภูทอก”
ตร.สภ.เชียงคาน แต่งชุดตำรวจโบราณ สร้างความสัมพันธ์ระหว่าง จนท.ตร.และประชาชน รับส่งฟรีโดยไม่เสียค่าโดยสารตลอดสายระยะทางกว่า 5 ก.ม. เมื่อนักท่องเที่ยวหรือ ชาวบ้าน ที่เห็นรถไฟวิ่งผ่าน สามารถเรียกหยุดให้รับได้1.jpg

ในช่วงนี้นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนต่างแปลกตาและแปลกใจที่ได้เห็นรถไฟโบราณแล่นปู๊นป๊านพานักท่องเที่ยวนั่งชิลๆ แบบถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง จากตัวอำเภอเชียงคานไปยัง “ภูทอก” และต่างชื่นชมว่าเป็นไอเดียที่กู๊ดเก๋ สอบถามได้ความว่าเป็นความคิดของ พ.ต.อ.เอกพงษ์ พลมณี ผกก.สภ.เชียงคาน คนเก่ง ที่เพิ่งย้ายมาอยู่ในพื้นที่ได้ไม่นาน เป็นผู้จัดทำโครงการขึ้นเพื่อบริการนักท่องเที่ยว...และได้รับความสนใจอย่างมากมาย

พ.ต.อ.เอกพงษ์ บอกว่า โครงการสายตรวจรถไฟโบราณ “อัศวินเพชรนาคา ตร.ชค.2559” เป็นงานป้องกันอาชญากรรม บริการประชาชนฟรี ซึ่งเป็นภารกิจหน้าที่รับผิดชอบหลักตามนโยบายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปกติแล้ว...โรงพักส่วนใหญ่หลายแห่งจะเน้นงานปราบปรามอาชญากรรม

จะเห็นได้ว่าโรงพักใดจับคดีใหญ่ๆได้ เช่น คดีอุกฉกรรจ์ฆ่าคนตายที่มีการวางแผนซับซ้อน คดีลักทรัพย์รถยนต์ รถจักรยานยนต์ที่มีขบวนการส่งออกขายนอกประเทศ หรือจับนักค้ายาเสพติดลอตใหญ่ ยึดทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ตำรวจที่เป็นนักสืบผู้ร่วมจับกุมที่สามารถจับกุมคลี่คลายคดีได้ ก็จะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของผู้บังคับบัญชาและประชาชน

โดยในปัจจุบันตำรวจรุ่นเก่าที่มีฝีมือซึ่งถือเป็นครูนักสืบได้สอนเทคนิค ประสบการณ์ในการทำงาน เขียนตำรับตำราให้ตำรวจรุ่นหลังๆได้นำมาศึกษาเป็นแนวทางในการคลี่คลายคดีใหญ่ๆ ประยุกต์กับการใช้เทคโนโลยีทันสมัย ทำให้ปัจจุบันตำรวจสามารถจับกุมคลี่คลายคดีใหญ่ๆได้รวดเร็ว

ลักษณะการทำงานเน้นการปราบปรามอาชญากรรมนี้ จะเหมาะสมกับสังคมเมืองใหญ่ที่มีประชากรและมีปัญหาอาชญากรรมเป็นจำนวนมาก...ในทางกลับกัน งานป้องกันอาชญากรรมในเมืองใหญ่ๆจึงไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ตำรวจผู้ปฏิบัติคงทำไปตามหน้าที่

นโยบายสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน เน้นหนักให้ความสำคัญมาที่โรงพักเป็นหัวใจและเป็นจุดแตกหักในการขับเคลื่อนแนวนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การวิเคราะห์สภาพปัญหา ความต้องการของชุมชนท้องถิ่น อยู่ที่หัวหน้าสถานีตำรวจ คือ ผกก., สวญ. หรือ สว. หัวหน้าสถานี ที่จะต้องศึกษาสภาพปัญหาภายในชุมชนท้องถิ่นของตนเองว่ามีอะไร...ผู้นำชุมชนและคนในชุมชนท้องถิ่นต้องการอะไร

หัวหน้าโรงพักก็จะนำนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติข้อที่เป็นความต้องการของชุมชนมาใช้ในการปฏิบัติงานให้เป็นรูปธรรม เหมาะสมกับสภาพปัญหา

พ.ต.อ.เอกพงษ์ มารับตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่เป็น ผกก.สภ.เชียงคาน เมื่อ 1 มิ.ย.2559 ได้ศึกษาสภาพพื้นที่และความต้องการของคนในชุมชนท้องถิ่นเมืองเชียงคาน พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย รักสงบ แต่พื้นที่เมืองเชียงคานมีทำเลที่มีจุดเด่นคือมีพื้นที่ติดแนวลำน้ำโขงที่สวยงาม จึงมีลักษณะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งมีถนนคนเดินบ้านเรือนไม้เก่าเป็นจุดขาย นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาเที่ยวและพักผ่อน

นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่มีชื่อเสียงคือ ภูทอกที่นักท่องเที่ยวชอบขึ้นไปดูทะเลหมอก และแก่งคุดคู้ที่มีความสวยงาม มีเรือล่องลำน้ำโขง มีผลิตภัณฑ์สินค้าที่อุปโภคและบริโภคจากชาวบ้านภายในชุมชนนำออกมาจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ชุมชนเป็นจำนวนมากด้านปัญหาอาชญากรรม ในพื้นที่ สภ.เชียงคาน ส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด คดีบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า ส่วนคดีเกี่ยวกับชีวิตทรัพย์สิน จะมีน้อย โดยมีการบูรณาการร่วมระหว่างหน่วยงานความมั่นคงตามแนวโขงระหว่างทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองภายในพื้นที่

ผลการปฏิบัติเท่าที่ผ่านมาสามารถควบคุมอาชญากรรมได้ ไม่กระทบกับความเป็นอยู่ของคนภายในชุมชน

พ.ต.อ.เอกพงษ์ มองว่า ชาวเชียงคานต้องการความเป็นอยู่ตามแบบวิถีชีวิตท้องถิ่นด้วยความสงบ ต้องการค้าขายมีกำไร อยากให้นักท่องเที่ยวมาเยอะๆ และพักผ่อนกินนอนเพื่อให้มีรายได้จากการจำหน่ายอาหาร...ค่าที่พัก ไม่ต้องการให้มีคดีต่างๆเกิดขึ้น ต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐดูแลความปลอดภัย การจราจรไม่ติดขัด และให้บริการด้วยหัวใจ ไม่อยากให้มีคดีต่างๆเกิดขึ้นอันส่งผลเสียหายถึงภาพลักษณ์การท่องเที่ยว

โจทย์ใหญ่ข้างต้นทำให้เกิดความคิด ดำเนินการเชิงรุกเข้าถึงประชาชนและนักท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมามีกิจกรรมด้านการป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก ดังนี้...

ระยะ 6 เดือนแรก (มิ.ย.-พ.ย.59)...จัดให้มีสายตรวจเดินเท้าแต่งกายสวมชุดเครื่องแบบสมัยโบราณ ประมาณ 60 ปีที่แล้ว ออกตรวจตราดูแลความปลอดภัย ให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยวบริเวณถนนคนเดินและใกล้เคียง จุดใดที่ไกลก็จัดให้มีสายตรวจรถ ไฟฟ้าออกตรวจร่วม

ถัดมา...จัดให้มีพนักงานสอบสวนไปรับแจ้งความบริเวณถนนคนเดิน ตามโครงการร้อยเวรออนไลน์ เพื่อบริการประชาชนและนักท่องเที่ยว เพราะพบว่านักท่องเที่ยวมาจากที่ต่างๆหลากหลาย

“หลายท่านอาจไม่ทราบว่าโรงพักอยู่ที่ใด หากไปแจ้งความที่โรงพักอาจจะไม่สะดวก จึงจัดร้อยเวรสอบสวนมาคอยรับแจ้งความต่างๆบริเวณถนนคนเดิน”

ผลการปฏิบัติเท่าที่ผ่านมามีความชัดเจนเป็นรูปธรรม ได้รับการตอบรับจากคนในชุมชนและสื่อมวลชนที่มีการเผยแพร่กิจกรรมผ่านสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก

ช่วงเดือนธันวาคมถึงช่วงสิ้นสุดช่วงหนาว พบว่าในอดีตที่ผ่านมาจะมีนักท่องเที่ยวมาเชียงคานในช่วงฤดูหนาวเป็นส่วนใหญ่ มีปัญหาสำคัญคือ...ปัญหาการจราจร คนมาเที่ยวมาก รถยนต์มีมาก ทำให้รถติดขัด...ปัญหาที่พักและห้องน้ำไม่เพียงพอ

“ถนนคนเดิน” ที่เป็นจุดขาย ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงพลบค่ำเกือบห้าทุ่ม...นักท่องเที่ยวมักไปเดินเที่ยว ซื้อสินค้า หาอาหารรับประทานแล้วเข้าที่พัก คงมีสายตรวจโบราณและร้อยเวรออนไลน์ดูแล

แต่...ภูทอก แก่งคุดคู้ ยังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวไปเที่ยวช่วงเช้าตรู่ และช่วงกลางวันจะทำอย่างไรที่จะให้ตำรวจไปดูแลความปลอดภัยและให้บริการได้ทั่วถึงเพื่อให้เกิดความประทับใจและเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย

แล้วก็มาถึงพระเอกตัวจริง...โครงการรถไฟสายตรวจ “อัศวินเพชรนาคา ตร.ชค.2559” เป็นการต่อยอดโครงการสายตรวจโบราณ โดยมีกิจกรรมหลักๆคือ...ออกตรวจพื้นที่เพื่อป้องกันเหตุอาชญากรรมไปตามถนนในเขตเทศบาลและพื้นที่เชื่อมโยง พร้อมๆกับให้บริการรับส่งนักท่องเที่ยวฟรีไปด้วย

ระหว่างออกตรวจพื้นที่ถ้าเกิดปัญหาด้านการจราจร ตำรวจสายตรวจรถไฟก็เข้าไปแก้ไขได้ทันที หรือหากมีเหตุความผิดซึ่งหน้า หรือเหตุขอความช่วยเหลือที่เฉพาะหน้า ชุดสายตรวจก็เข้าไประงับเหตุได้ทันที

รถไฟโบราณ...ปู๊นป๊าน นวัตกรรมป้องกันอาชญากรรมรูปแบบใหม่ ไฉไลใช่แค่ความสนุก หากแต่สร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ “ตำรวจไทย” ได้ไม่น้อยทีเดียว
ขอบคุณภาพและข้อมูล:www.thairath.co.th