ประวัติจังหวัดเลย

ไม่ระบุเวลา

แผนที่การเดินทาง

ติดต่อสอบถาม

ที่อยู่:
ต.กุดป่อง อ.เมืองเลย เลย 42000
โทร:
042833209
อีเมล:
loei.poc@gmail.com
เว็บไซต์:
http://www.loei.go.th
เฟซบุ๊ก:
-ไม่ระบุ-
ไลน์ไอดี:
-ไม่ระบุ-
เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู ถิ่นที่อยู่อริยสงฆ์ มั่นคงความสะอาด

ความเป็นมา

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

ดินแดนที่เป็นที่ตั้งจังหวัดเลยในปัจจุบัน เป็นชุมชนมาแต่โบราณ โดยมีหลักฐานทางโบราณคดี อาทิเช่น เครื่องมือหิน ซึ่งเป็นโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีขวานหินขัดกำไลหินขัดแถบอำเภอเชียงคาน ซึ่งเชื่อกันว่ากลุ่มชนแถมนี้ดำรงชีวิตภายใต้สังคมเกษตรกรรม มีการกำหนดอายุไว้ประมาณ 9,000 ปี

4,000 - 2,000 ปี ยุคสัมฤทธิ์ พบหลักฐานที่ทำให้สันนิษฐานได้ว่า มีการขุดแร่เหล็กและทองแดงในบริเวณอำเภอปากชม และอำเภอเมืองเลย ขึ้นมาใช้


ยุคประวัติศาสตร์

พบหลักฐานใบเสมาในพื้นที่อำเภอวังสะพุง อายุประมาณ 1,000 - 1,200 ปี ซึ่งเป็นยุคทวารวดี และแหล่งโบราณคดีในพื้นที่อำเภอภูหลวง คาดว่ามีอายุใกล้เคียงกัน และในพื้นที่นี้มีชุมชนซึ่งมีความเจริญ จนมีสภาพเป็นเมือง อาทิ เมืองด่านซ้าย เมืองเชียงคาน เมืองท่าลี่ ส่วนเมืองเลย ได้ยกฐานะจากชุมชนบ้านแฮ่ ที่ตั้งอยู่ริมห้วยน้ำหมาน ซึ่งไหลจากภูเขาชื่อ ภูผาหมาน เป็นเมือง ในปี พ.ศ. 2396 โดยตั้งชื่อเมืองตามแม่น้ำใหญ่ ว่า "เมืองเลย" ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยให้ขึ้นกับเมืองหล่มสัก พร้อมทั้งแต่งตั้งหลวง ศรีสงครามเป็นเจ้าเมืองคนแรก (ท้าวคำแสน)

นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ชื่อ เอเจียน แอมอนิเย ได้เดินทางมาค้นหาศิลาจารึกและมาถึงเมืองเลย เมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2426 บรรยายสภาพเมืองเลยและอ้างบันทึกของมูโฮร์ (MOUHOT) นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางมาถึงเมืองเลย ปี 2404 ว่า "... สภาพบ้านแฮ่ ตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งห้วยน้ำหมาน ประกอบด้วยกระท่อม ประมาณ 200 หลัง บนพื้นที่สูง น้ำไม่ท่วมถึง หมู่บ้านตั้งเรียงรายอยู่ใต้ร่มไม้ผล ใกล้กับทุ่งนา แม่น้ำเลยสามารถเดินเรือได้ในฤดูน้ำหลาก..."

"...ประชาชนครึ่งหนึ่งเป็นเกษตรกร และอีกครึ่งหนึ่งเป็นกรรมกรทำงานอุตสาหกรรม ผลิตอุปกรณ์การไถนา และมีดอีโต้ เพื่อจำหน่ายไปทั่วจังหวัดข้างเคียง จนถึงจังหวัดที่อยู่เลยโคราชขึ้นไปอีก แต่ว่าไม่มีโรงงาน ไม่มีเครื่องจักรไอน้ำ แล้วก็เป็นที่น่าสนใจ เมื่อเห็นว่าการตั้งเตาที่จะตีเหล็กนั้นมีราคาต่ำที่สุด คือ จะมีการขุดหลุมกว่าง 1 เมตรครึ่ง ที่ตีนเขา แล้วช่างเหล็กจะเอาก้อนแร่ใส่เข้าไปในหลุมนั้น แล้วเผาด้วยถ่านไฟ ที่มีความร้อนสูง เมื่อร้อนได้ที่แล้ว เหล็กก็จะไหลลงไปในหลุมที่พื้นดิน หลังจากนั้นก็จะนำเอาเหล็กเป็นก้อนออกจากหลุมดังกล่าวไปทำการตีเป็นเครื่องมือที่โรงตีเหล็ก..."

"...ที่นี่ก็จะมีหลุมในดินอีก และมีไฟเผา ซึ่งจะมีเด็กคอยสูบลมด้วยท่อลมแฝด 2 ท่อ ซึ่งทำด้วยท่อนไม้กลวง โดยเอาปลายด้านหนึ่งฝังลงในดิน ภายในท่อสูบลมนี้จะมีลูกสูบทำด้วยสำลีจากตัวท่อสูบลมนี้จำมีหลอดไม้ไผ่ 2 หลอด ต่อไปนี้เตาเผาเหล็ก เพื่อนำอากาศเข้าไปในเตาเผาซึ่งจะทำให้ไฟลุกกล้า..."

"...คนเมืองเลยไปคล้องช้างป่าแถบภาคใต้ของจังหวัดในเขตภูหลวงและภูเขียว เวลาออกเดินทางพวกเขาจะทำการบวงสรวงวิญญาณเชือกยาวซึ่งมีบ่วงคล้องเอาช้างด้วยข้าว เหล้า เป็ด และไก่เสียก่อน นอกจากนั้นนายพรานจะให้คำแนะนำว่า ห้ามภรรยาทำการตัดผม หรือรับแขกต่างบ้าน ให้พักค้างคืนในบ้านเด็ดขาด ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามข้อห้ามเหล่านี้ จะทำให้ช้างที่คล้องมาได้นั้นหลุดมือไป..."

ปี 2434 (รศ.110) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสังเกตเห็นว่าฝรั่งตั้งท่าจะรุกรานพระราชอาณาเขต จึงได้จัดการปกครองพระราชอาณาเขตเป็นมณฑล และ ปี 2435 กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้จัดระบบการปกครองใหม่ เมืองเลยจังแยกจากเมืองหล่มสัก ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองโดยให้ขึ้นกับ มณฑลลาวพวน ที่ตั้งบัญชาการที่เมืองหนองคาย ก่อนที่จะย้ายมาตั้งที่บ้านหมากแข้งในปี 2436 (รศ.116) และเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอุดรภายหลัง และยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476 มีอำเภอ ดังนี้

1. อำเภอกุดป่อง (อำเภอเมืองเลย ในปัจจุบัน)

2. อำเภอท่าลี่

3. อำเภอด่านซ้าย (โอนมาจากเมืองพิษณุโลก)

4. อำเภอวังสะพุง (โอนมาจากเมืองหล่มสัก)

5. อำเภอเชียงคาน (โอนมาจากเมืองพิชัย)


พระราชกรณียกิจ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมราษฎรจังหวัดเลยครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2498 โดยเสด็จด้วยเฮลิคอปเตอร์จากจังหวัดขอนแก่น แล้วประทับช้างเพื่อทอดพระเนตรทัศนียภาพบนยอดภูกระดึง อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เสด็จฯ ทอดพระเนตรสถานเพาะเลี้ยงครั่งที่บ้านศรีฐาน เสด็จฯ ถึงศาลากลางจังหวัดเลย เป็นเวลาพลบค่ำของวันเดียวกัน

หนังสือรอยเสด็จ
ที่มา : หนังสือรอยเสด็จ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พุทธศักราช 2498 จัดพิมพ์โดย มหาวิทยาลัยขอนแก่น พุทธศักราช 2540

7 พฤศจิกายน 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จออกยังพลับพลาที่่ประทับ เพื่อเยี่ยมพสกนิกรชาวจังหวัดเลย ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัด พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ ยมนาค ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้กราบบังคมทูลรายงานสภาพสังคม เศรษฐกิจ ความว่า "...ประชากรตามสำรวจครั้งหลังสุด เมื่อ พ.ศ.2490 มีจำนวน 134,012 คน หรือ เฉลี่ยแล้ว 12 คน ต่อ 1 ตารางกิโลเมตร ...ในฤดูหนาวอุณหภูมิลงต่ำถึง 30 องศาฟาเรนไฮต์ มีหมอกจัดบางวัน บางวันมีหมอกจนถึงเวลา 09.00 น. กล่าวถึงอาชีพสำคัญของราษฎรจังหวัดนี้ คือ การทำร่ ทำไร่ฝ้าย ไร่พริก ไร่ยาสูบ ไร่ข้าวโพด และถั่ว งา ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดี เพราะพื้นดิน มีปุ๋ยธรรมชาติ ส่วนการปลูกต้นผลไม้ต่างๆ มีน้อย..." พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบโดยรับสั่งถึงความทุกข์ยากลำบากของราษฏรทรงเป็นห่วงและขอให้ทุกคนมีความมานะ อดทน ในการทำมาหากิน และนอกจากทำนาแล้ว ควรทำครั่งด้วย และได้เสด็จไปทอดพระเนตรสถานีทดลองและส่งเสริมการเพาะเลี้ยงครั่ง (ปัจจุบันสวนครั่งอยู่ในพื้นที่ของอำเภอภูกระดึง) ทรงสนพระทัยกิจการของสถานีทดลอง สถิติครั่งที่ส่งออกนอกประเทศปี 2496 เป็นมูลค่า 75 ล้านบาท ปี 2497 ส่งออกเป็นมูลค่า 157 ล้านบาท และปี 2498 เพียง 6 เดือน มีมูลค่า 94 ล้านบาท

จังหวัดเลยมีเจ้าเมือง ข้าหลวงประจำจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัด 47 คน นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ลำดับที่ 47 คำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556



ขอขอบคุณข้อมูลจาก : รายงายประจำปี 2559 สำนักงานจังวัดเลย

สิ่งอำนวยความสะดวก