เที่ยวภูกระดึง

ไม่ระบุเวลา

แผนที่การเดินทาง

ติดต่อสอบถาม

ที่อยู่:
ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง เลย 42180
โทร:
042871333
อีเมล:
-ไม่ระบุ-
เว็บไซต์:
-ไม่ระบุ-
เฟซบุ๊ก:
-ไม่ระบุ-
ไลน์ไอดี:
-ไม่ระบุ-
พิสูจน์ "รักแท้" จับมือพิชิตยอดภู ที่ "ภูกระดึง" จังหวัดเลย

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดเลย

หากกล่าวถึงการท่องเที่ยวแบบการผจญภัยแบบเท้าสู่เท้าทุกอย่างก้าวเที่ยวชมด้วยวิถีการอนุรักษ์ธรรมชาติแบบยั่งยืน ซึ่งบนภูเขาในประเทศไทยมีหลายแห่งมากมาย แต่หลายท่านอาจจะมีความคิดมโนภาพในใจแล้วหลายสถานที่ แต่มีสถานที่หนึ่งซึ่งอยู่ใน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย อุทยานแห่งชาติภูกระดึงเป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 2 รองจาก เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอุทยานแห่งชาติภูกระดึงตั้งอยู่ ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศไทย เนื่องจากมีธรรมชาติ พันธุ์ไม้ สัตว์ป่า นานาพรรณ ทิวเขาที่หลากหลายสวยงาม เหมาะที่จะท่องเที่ยวในช่วงวันหยุด ในแต่ละปีจึงมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลโดยเฉลี่ยแต่ละปีราวหมื่นคน โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว วันหยุดยาวมักมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปพักผ่อนกางเต็นท์ ชมธรรมชาติจำนวนมาก อุทยานแห่งชาติภูกระดึงได้รับจัดตั้งเป็นป่าสงวนแห่งชาติในปีพ.ศ. 2486 ครอบคลุมพื้นที่ 348.12 ตารางกิโลเมตร (217,575 ไร่) ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด โดยมีที่ราบบนยอดภูกระดึงประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร (37,500ไร่) มีความสูงอยู่ระหว่าง 400 – 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล จุดสูงสุดอยู่ที่บริเวณคอกเมยมีความสูง 1,316 เมตร สิ่งมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ไว้ให้ชาวเมืองเลย อนุรักษ์ธรรมชาติต่อไป นักท่องเที่ยวผู้สนใจต้องลองและหาโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตผู้พิชิตภูกระดึง

ตำนานอุทยานแห่งชาติภูกระดึง

พรานป่าผู้เก่งกล้าฝ่าไพร

เข้าสูงใหญ่ใกล้ไกลคาดรู้

ติดตามต้องกระทิงยอดภู บรรพต

อัศจรรย์พันธุ์ไม้นานา

เหยียบย้ำยอดผาราบกว้าง ไพรศาลมากมี

สัตว์ป่าไม่คิดแหนงหนีนิ่งไซร้

จ้องมองแลดูใกล้อยู่เฉย

พรานรุดลงเขาผลามรีบแจ้ง ทางการ

(ผู้แต่งอินทรภัทร)

ตำนานอุทยานแห่งชาติภูกระดึง แต่ก่อนไม่มีผู้ใดกล้าขึ้นไปเพราะเป็นภูเขาที่สูงและเป็นป่าดิบชื่นที่อันตราย ร่วมไปถึงมีสัตว์ป่าดุร้ายมากมายที่ชาวบ้านเกรงกลัวภัยอันตรายต่างๆ จึงไม่กล้าขึ้นไปบนภูเขา ครั้นมีพรานป่าผู้หนึ่งได้ล่ากระทิง กระทิงได้หนีขึ้นไปบนภูเขา พรานป่าเร่งติดตามไปด้วยต้องการจะล่ากระทิงกลับไปให้ได้ กระทิงวิ่งหนีกระโจนขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงยอดภูเขาแล้ววิ่งหายไปอย่างรวดเร็ว ทันใดนั้นพรานป่าได้ปีนขึ้นไปบนยอดภูเขาซึ่งได้เหยียบยอดเขาเป็นผู้แรก นายพรานป่าสังเกตถึงความกว้างใหญ่ไพรศาลของขุนเขาแห่งนี้ เป็นพื้นที่ราบ มีทุ่งหญ้าเล็กๆสลับกันไป ต้นสนและพันธุ์ไม้นานาชนิด สัตว์ป่าที่อยู่บนยอดภูเขาไม่ได้เกรงกลัวมนุษย์ อาจเป็นเพราะไม่เคยมีมนุษย์ผู้ใดขึ้นมาล่าสัตว์ป่านี้ได้ สัตว์ทั้งหลายจึงคิดว่าเป็นพวกเดียวกัน เมื่อพรานป่าเห็นเช่นนั้นแล้วจึงรีบรุดลงภูเขาไปแจ้งให้ชาวบ้านและทางการได้ทราบว่าบนยอดภูเขาแห่งนี้มีธรรมชาติที่สวยงามไม่ใช่เป็นเพียงภูเขาธรรมดาเท่านั้น จึงกลายมาเป็นอุทยานแห่งชาติภูกระดึงในปัจจุบัน


ตำนานอุทยานแห่งชาติภูกระดึง

เสียงกระดิ่งดังก้องบนยอดผา ดังแว่วมาไพเราะเสนาะหู

ถึงวันพระชัดเจนวังเวงซู่ บ่ลบลู่ระฆังคลังเทวอินทร์

อีกทำนองไพเราะเสนาะไม้ เสียงสีไกลจากต้นกิ่งสาขา

ลมคอยเคาะกระทบทุกเพลา ยิ่งนำพาเสียงระฆังดังกังวาน

(ผู้แต่งอินทรภัทร)



จากเรื่องเล่าว่า ในวันพระชาวบ้านมักจะได้ยินเสียงกระดิ่งหรือระฆังจากบนภูเขานี้เสมอ ชาวบ้านมีความเชื่อว่าเป็นระฆังของพระอินทร์บนสรวงสรรค์ ในบริเวณยอดภูเขาเมื่อมีลมพัดแรงๆกระทบกับต้นสนใบไม้ กิ่งและลำต้น จะทำให้มีเสียงก้องคล้ายระฆัง เหตุนี้เองจึงได้ชื่อว่า ภูกระดิ่ง และเพี้ยนมาเป็นภูกระดึงซึ่ง “กระดึง” แปลว่ากระดิ่ง เป็นภาษาพื้นเมืองของจังหวัดเลย

คงไม่มีที่ใดที่มีตำนานศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้อยู่ทุกสถานที่ย่อมมีตำนาน อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ยังมีตำนานมนต์เสน่ห์ที่ให้นักท่องเที่ยวได้มาพิสูจน์อีกมากมาย หากกล่าวถึงภูมิประเทศและลักษณะอาณาบริเวณของอุทยานแห่งชาติภูกระดึงจะมีลักษณะภูเขายอดตัด ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของที่ราบสูงโคราช ใกล้กับด้านลาดทางทิศตะวันออกของเทือกเขาเพชรบูรณ์ พื้นที่ส่วนใหญ่จะมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400-1,200 เมตรส่วนฐานหรือเชิงเขาเริ่มจากจุดต่ำสุดของพื้นที่ที่ระดับความสูง 260 เมตรไปจนถึงระดับความสูง 400 เมตร มีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขาล้อมรอบภูกระดึงและพื้นที่ที่อยู่ในระดับที่สูงขึ้นมีสภาพลาดชันยกตัว ขึ้นเป็นขอบเขาและหน้าผาสูงชันพื้นที่ราบมีพื้นที่ประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร (37,500ไร่) มีลักษณะคล้ายรูปใบบอนหรือรูปหัวใจ ยอดภูที่สูงที่สุดอยู่ที่คอกเมย สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,316 เมตร


ภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง

นักท่องเที่ยวจะได้รับบรรยากาศที่สดชื่นเย็นสบายเพราะบริเวณอุทยานแห่งชาติภูกระดึงจะมีความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้และเป็นเชิงเขาซึ่งมีอากาศที่บริสุทธิ์ โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้และลมมรุสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีอากาศเย็นสบายเหมาะสมกับนักท่องเที่ยวที่ชอบการเดินป่าท้าลมหนาว ส่วนฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน – เดือนตุลาคม ฝนตกชุกมากที่สุดอยู่ในเดือนสิงหาคม – เดือนกันยายน อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ในเดือนมกราคมและอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่เดือนเมษายน ในฤดูหนาวช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม มีอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ระหว่าง 0 – 10 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ระหว่าง 21 – 24 องศาเซลเซียส อากาศบนยอดภูกระดึงจะมีลักษณะแปรปรวน มีเมฆหมอกลอยต่ำปกคลุมบ่อย ลักษณะเช่นนี้อากาศจึงค่อนข้างเย็นตลอดทั้งปี


ระบบนิเวศวิทยา

สัตว์ป่าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง มีสัตว์ป่าอยู่อย่างชุกชุม สัตว์ป่าที่สำรวจพบอาทิ เก้ง กวางป่า หมูป่า ลิงกัง ลิงลม บ่าง กระรอก กระแต หนูหริ่งนาหางยาว ตุ่นเม่นหางพวง พังพอน และอีเห็น เป็นต้น สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ คือ เลียงผา ช้างป่า เสือดาว และเสือโคร่ง สัตว์ปีกเช่น เหยี่ยวรุ้ง นกเขาเปล้า นกเขาใหญ่ นกกระปูดใหญ่ นกเค้ากู่ นกตะขาบทุ่ง เป็นต้น สัตว์เลื้อยคลาน เช่นตุ๊กแก เต่าเหลือง งูทางมะพร้าว เต่าเดือย เต่าปูลู ซึ่งเต่าเดือนใกล้สูญพันธุ์แล้ว สัตว์ป่าที่พบมากที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ได้แก่ กวาง หมูป่า หมาใน เนื่องจากกลุ่มกวางจำนวนหนึ่งที่เจ้าหน้าที่อุทยานได้เลี้ยงไว้และแพร่พันธุ์เป็นจำนวนมาก


พืชพรรณที่มักพบเหตุในอุทยานแห่งชาติภูกระดึง

ด้วยสภาพภูมิอากาศชีวปัจจัยจากที่ราบเชิงเขาจากระดับน้ำทะเล 600 เมตร จะมีลักษณะเป็นป่าเต็งรัง และพื้นที่ราบเชิงเขาและที่ลาดชันตามไหล่เขารอบภู จนถึงระดับความสูง 950 เมตรจะเป็นป่าเบญจพรรณหรือป่าผลัดใบ มีพันธุ์ไม้ได้แก่ แดง ประดู่ป่า กระบก ตะแบกเลือด ยมหิน เป็นต้น หากที่ความสูงเกิน 1,000 เมตรขึ้นไปจะเป็นป่าละเมาะเขาจัดอยู่ในประเภทป่าไม่ผลัดใบ ป่าสนเขาจะพบเฉพาะบริเวณที่ราบยอดภูที่ระดับความสูงประมาณ 1,200-1,300 เมตร ซึ่งสัญลักษณ์ประจำจังหวัดเลยก็คือต้นสนสามใบนั้นเอง


ส่วนพรรณไม้ที่มีชื่อเสียง

คือก่วมแดง หรือ ไฟเดือนห้า พืชตระกูลก่วมหรือเมเปิลเป็นพรรณไม้ที่สร้างชื่อเสียงให้กับอุทยานแห่งชาติภูกระดึงมากเพราะพรรณไม้ชนิดดีจะแดงสดในฤดูหนาวประมาณเดือนธันวาคม และหม้อข้าวหม้อแกงลิงพบมากในบริเวณผาน้อยและผาแดง ส่วนกระเจียวและปทุมมา พบในบริเวณผาเหยียบเมฆจนถึงผาแดง จะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม


จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจบนอุทยานแห่งชาติภูกระดึง

ผานกแอ่น

เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวสามารถมาชมพระอาทิตย์ขึ้น อยู่ห่างจากที่พักประมาณ 2 กิโลเมตร ในหน้าหนาวเมื่อนักท่องเที่ยวได้ไปชมพระอาทิตย์ขึ้น จะมีเจ้าเจ้าหน้าที่พาไปเพื่อความปลอดภัย แต่การเดินทางไปนั้นควรพกไฟฉายส่งทางไปด้วย การได้ไปชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ่นช่วงตอนพระจันทร์ได้หายไปแล้วมีพระอาทิตย์ดวงโตขึ้นมาทดแทนเปรียบเสมือนชีวิตใหม่ที่จะต่อสู้ต่อไป หากนักท่องเที่ยวได้ไปชมจะเก็บบรรยากาศความรู้สึกในความทรงจำตลอดกาล


ผาหล่มสัก

หากนักท่องเที่ยวท่านที่มาอุทยานแห่งชาติภูกระดึงถ้าไม่ได้มาถ่ายภาพและชมพระอาทิตย์ตกที่ผาหล่มสักแล้วเหมือนกับว่ามาไม่ถึงภูกระดึง เพราะเป็นภาพเอกลักษณ์ของภูกระดึง เดินทางจากศูนย์ที่พักวังกวางประมาณ 9 กิโลเมตร แต่นักท่องเที่ยวควรตรียมอุปกรณ์ไฟฉายส่องทางเพราะเมื่อชมพระอาทิตย์ตกแล้วตอนกลับที่พักจะต้องใช้เวลาเดินกลับจนดึก เพื่อความปลอดภัยของท่านนักท่องเที่ยว

สถานที่บนอุทยานแห่งชาติภูกระดึงมีมากมายและเป็นแหล่งธรรมชาตินิเวศวิทยาที่หลากหลาย นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวแบบนี้ลองมาพิสูจน์กันได้ที่ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง



สถานที่ตั้ง

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตั้งอยู่ที่ ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย 42180

พิกัด16.902305, 101.752186


การเดินทาง

เส้นทางที่ 1 จากอำเภอเมืองเลย ใช้เส้นทางหมายเลข 201ถึงทางแยก เลี้ยวขวาเพื่อเข้าสู่ เส้นทางหมายเลข 2019ระยะทาง 79 กิโลเมตร

เส้นทางที่ 2 จากจังหวัดขอนแก่น ใช้เส้นทางหมายเลข 12 และเข้าสู่ถนนหมายเลข 201 ถึงแยกเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนหมายเลข 2019 ระยะทาง 138 กิโลเมตร

เส้นทางที่ 3 จากจังหวัดหนองบัวลำภู ใช้เส้นทางหมายเลข 228 (ผ่านศรีบุญเรือง) ถึงแยกหน้าโรงเรียนบ้านโนนงาม เลี้ยวขวา เข้าสู่ถนนหมายเลข 3007 ผ่าน องค์การบริหารส่วนตำบลนากอก ตรงเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 3006 ตรงตามเส้นทางจนมาถึงเส้นทางหมายเลข 201 และ ถึงทางแยก เลี้ยวขวาเพื่อเข้าสู่ เส้นทางหมายเลข 2019 ระยะทาง 92.9 กิโลเมตร

เส้นทางที่ 4 จากจังหวัดหนองบัวลำภู ใช้เส้นทางหมายเลข 210 (ผ่านบริษัท น้ำตาล เอราวัณ จำกัด) ถึงแยก เลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 3019 ถึงบ้านโคกขมิ้น อ.วังสะพุง เลี่้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 201 ถึงทางแยก เลี้ยวขวาเพื่อเข้าสู่ เส้นทางหมายเลข 2019ระยะทาง 121 กิโลเมตร



เวลาเปิดบริการ

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เปิดฤดูท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม - 31 พฤษภาคม ของปีถัดไป

ตั้งแต่เวลา 07.00 - 14.00 น.ของทุกวัน และหลังจากเวลา 14.00 น. เป็นต้นไป ทางอุทยานฯ จะไม่อนุญาตให้เดินทางขึ้นไปยังหลังแป เนื่องจากระยะทางการเดินทางค่อนข้างที่จะไกลและใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 4-5 ชั่วโมง อาจทำให้เกิดอันตรายทั้งจากสัตว์ป่า หรือเดินทางลำบาก เพราะตรงกับเวลาพลบค่ำ


ค่าบริการ

- ค่าเข้าไปในอุทยาน

ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เข้าฟรี

ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 400 บาท เด็ก 200 บาท

- ค่ารับจ้างหาบสัมภาระ

กิโลกรัมละ 30 บาท


ที่กิน

ในแต่ละซำ จะมีจุดบริการนักท่องเที่ยว ให้ได้รับประทานอาหาร เครื่องดื่ม และห้องน้ำให้ เพื่อได้พักผ่อนก่อนจะเดินทางต่อไปยังยอดภู


ที่พัก

บนยอดภู หรือที่เรียกว่า หลังแป จะมีบ้านพัก หรือ เต็นท์ สามารถติดต่อ สำรองที่พักได้

นักท่องเที่ยวสามารถนำเต็นท์ขึ้นไป เพื่อพักแรมเองได้


เบอร์โทรศัพท์

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง 042-871333 (ตลอด 24 ชั่วโมง) หรือ 042-871458 (ระหว่างเวลา 07.00 - 16.00 น.)



อ่านรีวิวภูกระดึงที่นี่ :

รีวิวภูกระดึง ตอนที่ 1

รีวิวภูกระดึง ตอนที่ 2



สิ่งอำนวยความสะดวก