งานกาชาดดอกฝ้ายบาน สืบสานวัฒนธรรมไทเลย ชื่อเดิมงานกาชาดดอกฝ้ายบาน มะขามหวานเมืองเลย หรือบางคนอาจจะเรียกสั่นๆว่า งานดอกฝ้ายเมืองเลย
งานกาชาดดอกฝ้ายบาน สืบสานวัฒนธรรมไทเลย ชื่อเดิมงานกาชาดดอกฝ้ายบาน มะขามหวานเมืองเลย
หรือบางคนอาจจะเรียกสั่นๆว่า งานดอกฝ้ายเมืองเลย ชื่อนี้สำหรับหลายคนคงคุ้นหูอย่างแน่นอนเพราะถูกพูดถึงในเพลง
รักสลายดอกฝ้ายบาน แต่งโดยดาว บ้านดอน ขับร้องโดยจินตหรา พูนลาภ ที่โด่งดังในอดีตแต่มีน้อยคนที่จะรู้ที่มาที่ไป
และสาเหตุของการเปลี่ยนชื่อในแต่ละครั้ง วันนี้ Gotoloei จะพาทุกท่านไปรู้จักกับ
งานกาชาดดอกฝ้ายบาน สืบสานวัฒนธรรมไทเลย แบบเจาะลึกกันครับ
กล่าวถึงจังหวัดเลยนั้นเป็นจังหวัดที่มีแนวเขตติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมี "น้ำเหือง" และ "แม่น้ำโขง"
เป็นเขตแนวธรรมชาติกั้นพรมแดน จังหวัดเลยในช่วงฤดูหนาวของจังหวัดเลยนั้น ในอดีตอากาศจะหนาวจัด และต่อเนื่องยาวนานหลายเดือน
คือประมาณเดือนตุลาคมถึงมีนาคม อำเภอภูเรือ จังหวัดเลยเคยอากาศหนาวที่สุดในประเทศมาแล้ว
จังหวัดเลยจึงมีคำขวัญประจำจังหวัดว่า"เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม”
( ปัจจุบัน เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู ถิ่นที่อยู่อริยสงฆ์ มั่นคงความสะอาด
ตามหนังสือราชการที่ ลย0017.3/ว 5557
ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2559 ลงนามโดยนายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ในขณะนั้น)
เมื่ออากาศหนาวเหน็บเช่นนี้ ผู้คนจึงทำ ผ้าห่มสำหรับห่มกันหนาวกัน ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้หลักๆ ก็คือฝ้าย
โดยจะใช้ยัดเป็นไส้ในผ้าห่ม ส่วนผืนผ้านั้นก็จะทอขึ้นจากฝ้าย ผ้าห่มชนิดนี้ชาวเลยจะทำกันทั่วไป
ปัจจุบันนี้ก็ยังพอหาซื้อได้อยู่ที่อำเภอเชียงคานฝ้ายนี้ชาวบ้านก็จะปลูกเอง และนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย
จนถึงขนาดมีโรงหีบฝ้ายตั้งขึ้นหลาย แห่งเพื่อรับซื้อฝ้ายเพื่อนำไปขายต่ออย่างเป็นล่ำเป็นสันทีเดียว
และเนื่องจากจังหวัดเลย เป็นจังหวัดเดียวของประเทศที่ปลูกฝ้ายมากเป็นอันดับ ๑ ในสมัยนั้น
จุดเริ่มต้นของงานดอกฝ้ายเมืองเลย
“ประพันธ์ พลอยพุ่ม”ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเลย ร่วมกับชาวเลยจัดงาน “ดอกฝ้ายบานที่เมืองเลย” ขึ้น
เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2523 ในสมัยนายวิชิต ลักษณสมพงษ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ใช้ชื่องานว่า
“ดอกฝ้ายบานที่เมืองเลย และงานกาชาดจังหวัดเลย”โดยงานมีขึ้นระหว่างวันที่ 30 มกราคม ถึง 3 กุมภาพันธ์ 2523
ครั้งนั้นจัดขึ้นที่ด้านหลังที่ว่าการอำเภอเมืองเลยเก่า ติดกับศาลาเทศบาลเมืองเลยใน “สวนสาธารณะกุดป่อง”
ที่ล้อมรอบด้วยน้ำกุดป่องงานครั้งนั้นเพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การปลูกฝ้ายในฐานะเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดเลย
เพราะทำรายได้ให้จังหวัดเลยเป็นอันดับหนึ่งเลย เป็นจังหวัดเดียวของประเทศที่ปลูกฝ้ายมากเป็นอันดับ 1 ในสมัยนั้น
และเพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงของจังหวัดเลยในด้านการท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีอยู่มากมาย
คือ ภูกระดึง ภูเรือ ภูหลวง ควบคู่กับการส่งเสริมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนในชนบท
ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ท่องเที่ยวพักผ่อน รื่นเริงสนุกสนาน โดยในช่วงฤดูหนาวถือว่าเป็นช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมกับการจัดงานมากที่สุด
เพราะเป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น และฝ้ายกำลังออกดอกขาวบานสะพรั่งไปทั่วจังหวัดเลย
ต่อมาสภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนไป ฝ้ายซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของจังหวัดเลย ขาดการเอาใจใส่ส่งเสริม เกษตรกรหันไปสนใจปลูกมะขามหวาน ข้าวโพด มะม่วงหิมพานต์ ยางพารา อ้อยและมันสัมปะหลัง ในสมัยนายชีวิน สุทธิสุวรรณเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้มอบหมายให้คณะกรรมการในครั้งนั้นผลักดันให้นำชื่อมะขามหวานเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง ของชื่องาน จึงได้เปลี่ยนชื่องาน จากชื่อเดิมเป็น "งานกาชาดดอกฝ้ายบาน มะขามหวานเมืองเลย" ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 มาจนถึง พ.ศ.2557 โดยจัดต่อมาเป็นประจำทุกปี
ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดเลย รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเลย โยงไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของคนในท้องถิ่น
จึงมีการแสดงสินค้าเกษตร สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และเพื่อเป็นการส่งเสริมความรักความสามัคคี และรักหวงแหนในวัฒนธรรมพื้นบ้าน
อันเป็นการพัฒนาสังคมโดยผ่านกระบวนการแสดงออกร่วมกัน ทางสภาวัฒนธรรมจังหวัด/อำเภอ/ตำบล/เทศบาล และศูนย์วัฒนธรรม
ได้ร่วมกันออกร้านในงานนี้ พร้อมทั้งจัดประกวดและสาธิตการแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยจัดในวันที่ 1 ถึง 9 กุมภาพันธ์ ของทุกปี
ต่อมาสมัยนายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ในปี พ.ศ.2557 จังหวัดเลย ประกาศปรับเปลี่ยนชื่อ
งานกาชาดดอกฝ้ายบาน มะขามหวานเมืองเลยเป็นงาน “งานกาชาดดอกฝ้ายบาน สืบสานวัฒนธรรมไทเลย“
เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
โดยจังหวัดเลยได้จัดการประกวดตั้งชื่องานกาชาดประจำปี ให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของจังหวัด และสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเปิดให้เด็ก
เยาวชน ประชาชนทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วมในการตั้งชื่องานกาชาดจังหวัดเลย ซึ่งเป็นงานประเพณีที่สำคัญ และเป็นการกระตุ้นและสร้างจิตสำนึก
ผูกพันกับถิ่นกำเนิดจังหวัดเลย มีผู้สนใจเสนอชื่องานเข้าประกวดจำนวนกว่า 100 ชื่อ และคณะกรรมการจัดการประกวดตั้งชื่อ
งานกาชาดจังหวัดเลย ที่จังหวัดตั้งขึ้น ได้พิจารณาตัดสินให้ผลงานของ นางสาวรัชฎาพร วรรณไชยนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเลย
เป็นชื่อชนะเลิศ คือ “งานกาชาดดอกฝ้ายบาน สืบสานวัฒนธรรมไทเลย“ โดยให้เหตุผลว่า จังหวัดเลยเป็นจังหวัดที่มีวัฒนธรรม
ที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นจังหวัดที่มีอากาศหนาว มีการปลูกฝ้าย เพื่อนำมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม เป็นจำนวนมาก จนได้ชื่อว่า
เป็นจังหวัดที่ผลิตฝ้ายเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ
งานกาชาดดอกฝ้ายบาน สืบสานวัฒนธรรมไทเลยถือได้ว่าเป็นงานใหญ่ของจังหวัดที่จะได้เห็นการมีส่วนร่วมของชาวเลยทุกอำเภอ
จะมีการจัดขบวนรถแห่ และขบวนการแสดงในพิธีเปิดงาน รวมทั้งการออกร้านแสดงถึงเอกลักษณ์ และผลงาน ผลผลิตเด่น
แยกเป็นร้านของแต่ละอำเภอ และจัดระหว่างวันที่ 1-9 กุมภาพันธ์ ของทุกปี บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเลย
ถึงแม้ว่าชื่อจะถูกเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาให้เข้ากับยุคสมัย แต่ว่างานกาชาดดอกฝ้ายบาน สืบสานวัฒนธรรมไทเลย
ก็ยังคงเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญของจังหวัดเลย 1-9 กุมภาพันธ์ ของทุกปี อย่าลืมมาชมมาสัมผัสวัฒนธรรมของ เมืองเลยบ้านเฮากันนะครับ
ในปี 2561 ใช้ชื่องานว่า งานดอกฝ้ายบาน สืบสานวัฒนธรรมไทเลย
ข้อมูล
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเลย
http://www.loei.go.th
ภาพ
เลยเถิดตะเลิดเลย