ลักษณะภูมิประเทศและสภาพธรณีสัณฐาน
สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไป ของจังหวัดเลย มีภูเขาล้อมรอบตัวเมือง ลักษณะเป็นแอ่งกระทะ สูงจากระดับน้ำทะเล เฉลียประมาณ 250 เมตร ณ สถานีอุตุนิยมวิทยา ซึ่งสามารถแบ่งลักษณะภูมิประเทศออกเป็น 3 เขต ดังนี้
1. เขตภูเขาสูง ทางด้านทิศตะวันตกทั้งหมด เริ่มตั้งแต่อำเภอภูกระดึง ขึ้นไปอำเภอภูหลวง อำเภอภูเรือ อำเภอท่าลี่ และ เขตอำเภอด่านซ้าย อำเภอนาแห้ว ทั้งหมดมีความสูงตั้งแต่เฉลี่ย 600 เมตร จากระดับน้ำทะเล
2. เขตที่ราบเชิงเขา ได้แก่ บริเวณตอนใต้และตะวันออกของจังหวัด ได้แก่ อำเภอนาด้วง อำเภอปากชม และพื้นที่บางส่วนในเขตอำเภอภูกระดึงและอำเภอภูหลวง เป็นเขตที่ไม่ค่อยมีภูเขาสูงนัก มีที่ราบเชิงเขาพอที่จะทำการเพาะปลูกได้ มีประชาชนหนาแน่นปานกลาง
3. เขตที่ราบลุ่ม มีพื้นที่น้อยมากในตอนกลางของจังหวัด คือ ลุ่มน้ำเลย ลุ่มน้ำโขง ได้แก่ บริเวณอำเภอวังสะพุง อำเภอเมือง อำเภอเชียงคาน เป็นเขตที่ทำการเกษตรได้ดี โดยมีที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขา ขนาดไม่ใหญ่มากนักสลับอยุ่แนวเทือกเขาเหล่านั้น หินที่พบในบริเวณนี้ส่วนใหญ่มีอายุมาก เช่น
หินแปร ยุคไซลูเรียน - ดีโวเนียน อายุ 438 - 378 ล้านปี
หินปูน ยุคดีโอเนียนตอนกลาง อายุ 385 ล้านปี
หินตะกอนและหินแปรชั้นต่ำ อายุ 360-280 ล้านปี
หินยุคคาร์บอนิเฟอรัส
หินปูนและหินดินดาน ยุคเพอร์เมียน อายุ 296-248 ล้านปี
หินตะกอน ยุคไตรแอสซิก อายุ 220 ล้านปี
และพบหินยุคโคราช บริเวณเขายอดราบอยู่บนหินเหล่านี้ เช่น ภูผาจิต ภูกระดึง ภูหลวง ภูหอ ภูขัด ภูเมี่ยง (อำเภอนาแห้ว) เนื่องจากชั้นหินเกือบทั้งหมดวางอยู่แนวเหนือ - ใต้ จึงควบคุมให้เกิดที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขาและทิศทางแนวเหนือใต้ด้วย แม่น้ำเลยจึงไหลจากใต้ขึ้นเหนือ
สภาพธรณีวิทยา
หมวดหินที่พบในจังหวัดเลย มีรายละเอียดสังเขป ดังนี้
1. หินห้วยหินลาด (Huai Hinlat Formation)พบบริเวณหินลาด กม.ที่ 109.5 บนถนนสายขอนแก่น - เลย ทิศใต้ผานกเค้า อำเภอภูกระดึง ประกอบด้วยหินกรวดมนเนื้อปูน (Limestion Congomerate) เป็นหินฐานและมีหินดินดาน หินทรายแป้งและหินสีแดง สลับกับหินดินดานและหินปูนสีเทา มีอายุประมาณยุคไทรแอสซิกตอนกลาง (Upper Triassic Period)
2. หมวดหินภูกระดึง (Phu Kradung Foration)หินแม่แบบที่เชิงภูเขาของภูกระดึง ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง ประกอบด้วย หินจำพวกหินทรายเนื้อละเอียด และหินดินดาน ง่ายต่อการผุพัง จึงทำให้สภาพภูมิประเทศ ที่ประกอบด้วยหินหน่วยนี้ เป็นที่ราบ และมักจะเป็นฐานของสันเขา ที่เกิดจากหน่วยหินพระวิหาร มีความหนาประมาณ 800 - 1,100 เมตร มีอายุประมาณยุคจูลาสิคตอนบน (Over Jurassic Period)
ภาพถ่ายดาวเทียม อุทยานแห่งชาติภูกระดึง
สภาพอุทกธรณีวิทยา
ส่วนใหญ่จะเป็นชั้นหินใต้หินเฉพาะแห่ง ซึ่งให้น้ำในปริมาณมากพอสมควรเป็นแห่งๆ ชั้นหินอุ้มน้ำส่วนใหญ่ เป็นหินใต้น้ำชุดโคราชตอนล่าง บ่อลึกประมาณ 60 เมตร ให้น้ำมากถึง 10 - 50 ลบ.ม./ชม. คุณภาพน้ำดีสามารถดื่มได้
สภาพปฐพีวิทยา
สภาพปฐพีวิทยา ประกอบด้วย ชุดดินหางดง ชุดดินพาน ชุดดินราชบุรี ชุดดินแม่ลาย มีการระบายน้ำเร็ว หรือ ค่อนข้างเร็ว มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำถึงปานกลาง ปฏิกิริยาดินเป็นกรดปานกลาง ถึงเป็นด่างอ่อนประมาณ 6.0 - 8.0 กลุ่ม ดินเหล่านี้ มีสภาพพื้นที่ราบเรียบ เหมาะสมหรับทำนา ไม่มีดินเค็ม
ส่วนกลุ่มดินที่มีสภาพพื้นดินเป็นลูกคลื่น ลอนลาดไปจนถึงเนินเขาเป็นดินร่วนเหนียว ดินเหนียวปนทรายแป้ง มีการระบายน้ำดีถึงปานกลาง ซึ่งได้แก่ ชุดดินเลย ชุดดินวังไห ชุดดินธาตุพนม ชุดดินด่านซ้าย ชุดดินสันป่าตอง ชุดดินห้างฉัตร ชุดดินโคร ชุดดินเหล่านี้เป็นชุดดินส่วนใหญ่ของจังหวัดเลย ที่มีความลาดชัน และมักเกิดปัญหาเกี่ยวกับการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ซึ่งจังหวัดต้องปลูกพืชตามระบบดิน น้ำและการบำรุงดิน ดินที่ไม่เหมาะสมกับการเกษตรของจังหวัดเลย ซึ่งเป็นผลให้เกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน จนบางแห่งเหลือแต่หินโผล่ บริเวณอำเภอด่านซ้าย นาแห้ว ภูหลวง ปากชม จึงมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ
สภาพอุทกวิทยาของลุ่มน้ำ
มีการกระจายแหล่งน้ำธรรมชาติไม่มาก มีแม่น้ำโขง เหือง เลย น้ำหมาน น้ำพอง น้ำสาน ห้วย ลำธาร คลอง จำนวน 922 สาย หนองบึง 148 แห่ง น้ำพุ น้ำซับ 72 แห่ง ในฤดูแล้งแหล่งน้ำเล็กๆ ขอดลงเหลือแต่แม่น้ำสายใหญ่ๆ การแบ่งลุ่มน้ำหลักโดยคณะกรรมการอุทกวิทยาแห่งชาติ จังหวัดเลยอยู่ในเขต 3 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำโขง พื้นที่ 9,372 ตร.กม. (82%) ลุ่มน้ำชี 1,476 ตร.กม. (13%) และลุ่มน้ำป่าสัก พื้นที่ 576 ตร.กม. (5%) ลำน้ำที่สำคัญ 5 ลำน้ำ คือ น้ำเลย น้ำเหือง น้ำโขง น้ำพอง และแม่น้ำป่าสัก จำนวนลำห้วยสาขา รวม 484 สาย
การแบ่งลุ่มน้ำย่อย โดยแบ่งตามชื่อลำน้ำที่สำคัญ 5 ลุ่มน้ำคือ
1. ลุ่มน้ำเลยพื้นที่ 3,891 ตารางกิโลเมตร คืดเป็นร้อยละ 34 ของพื้นที่บนเทือกเขาภูหลวง ไหลผ่านอำเภอภูหลวง วังสะพุง เมืองเลยและไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่อำเภอเชียงคาน มีห้วยสาขารวม 147 สาย อยู่ในเขตอำเภอภูหลวง วังสะพุง เมืองเลย อำเภอเอราวัณ และพื้นที่บางส่วนของอำเภอนาด้วง เชียงคาน และอำเภอหนองหิน แม่น้ำเลยมีความยาว 231 กิโลเมตร อยู่ในเขตจังหวัดเลย 120 กิโลเมตร ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 1,168 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
2. ลุ่มน้ำเหือง พื้นที่ 3,127 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 27.4 ของพื้นที่จังหวัด ต้นน้ำอยู่ในเขตอำเภอนาแห้ว ไหลไปอำเภอท่าลี่ ลงแม่น้ำโขงที่บ้านท่าดีหมี อำเภอเชียงคาน มีลำห้วยสาขารวม 163 สาย อยู่ในเขตอำเภอนาแห้ว อำเภอภูเรือและบางส่วนของอำเภอด่านซ้าย อำเภอเชียงคาน มีความยาวประมาณ 130 กิโลเมตร ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 1,045 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
3. ลุ่มน้ำโขง พื้นที่ 2,354 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 20.6 ของพื้นที่จังหวัด เป็นช่วงที่แม่น้ำโขงไหลผ่านจังหวัดเลยไปจังหวัดหนองคาย มีลำห้วยสาขา 59 สาย อยู่ในเขตอำเภอเชียงคานและปากชม ปริมาณท่าเฉลี่ย 787 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
4. ลุ่มน้ำพองพื้นที่ 1,476 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 13.0 ของพื้นที่จังหวัด มีลำห้วยสาขา 67 สาย อยู่ในเขตอำเภอภูกระดึง อำเภอผาขาว และบางส่วนของอำเภอหนองหิน อำเภอนาด้วง ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 477 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
5. ลุ่มน้ำป่าสักพื้นที่ 576 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 5.0 ของพื้นที่จังหวัดเลย มีลำห้วยสาขา 48 สาย อยู่ในเขตบางส่วนของอำเภอด่านซ้าย มีความยาวประมาณ 18 กิโลเมตร ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 193 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
สภาพภูมิอากาศ(ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2559)
จังหวัดเลยอยู่ใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงเดือนมิถุนายน - ตุลาคม จะมีลมมรสุมหรือแนวปะทะโซนร้อน (Inter Tropical Convergence Zone : ITCZ) พาดผ่านทำให้มีฝนตกติดต่อกันหลายวัน และบางครั้งจะมีพายุหมุนเขคร้อน (Tropical Cycloen) เคลื่อนเข้ามาป่านเป็นครั้งคราวซึ่งจะจะมีฝนตกหนัก ปริมาณฝน 5 ปี ( พ.ศ. 2554 - 2558) ฝนตกมากที่สุดในปี พ.ศ. 2554 วัดได้ 1,971.2 มม. จำนวน 142 วัน และฝนตกน้อยที่สุดในปี พ.ศ. 2558 วัดได้ 895.3 มม. จำนวน 112 วัน
อุณหภูมิสูงสุดวัดได้ 43.5 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2517 และอุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ -1.3 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558 อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 3.0 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2556 และในปี พ.ศ.2559 อุณหภูมิสูงสุดวัดได้ 43.0 องศงเซลเซียส เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2559 และอุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 6.5 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : รายงายประจำปี 2559 สำนักงานจังวัดเลย