“พระพุทธบาทภูควายเงิน” โบราณสถานเก่าแก่ทางพระพุทธศาสนาอีกแห่งหนึ่ง ในอำเภอเชียงคานจังหวัดเลย
“พระพุทธบาทภูควายเงิน”
โบราณสถานเก่าแก่ทางพระพุทธศาสนาอีกแห่งหนึ่ง ในอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลยถือเป็น ศาสนสถาน ศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองเชียงคานมานาน แต่อดีตซึ่งในครั้งเก่าก่อนเชื่อกันว่า ใครก็ตามที่จะมาถึงวัดพระพุทธบาทภูควายเงินได้ ต้องเป็นผู้ที่มีบุญวาสนาจริงๆ เท่านั้น ส่วนคนที่มีบุญหรือมีวาสนาไม่ถึงก็จะมีเหตุและอุปสรรค์ต่างๆ ทำให้มาไม่ได้ทั้งที่ตั้งใจไว้อย่างเต็มที่แล้วก็ตาม
แต่เดิมคงเป็นรอยธรรมชาติบนแท่นหินแกรนิต และได้มีการฉาบปูนตกแต่ง และซ่อมแซมอย่างน้อย 2 ครั้งด้วยกัน คือในช่วงประมาณก่อนปี พ.ศ.2478 ปี พ.ศ.๒๕๒๘ ( เนื่องจากถูกลักลอบทุบทำลาย ) ตามรูปแบบดั้งเดิมจากหลักฐานภาพถ่ายในปี พ.ศ.2515 ดังสภาพในปัจจุบัน ทุก ๆ ปีจะมีงานเทศกาลนมัสการเป็นประจำในช่วงวันเพ็ญเดือน 3 หรือ 4
สำหรับสิ่งที่น่าสนใจ ในบริเวณวัดพระพุทธบาทภูควายเงินแห่งนี้ ก็คือรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่บนหินลับพร้า (หินลับมีด) ซึ่งมีลักษณะเป็นรอยแตก แต่ไม่มีอักษรจารึกขนาดกว้างประมาณ 1 ศอก ยาวประมาณ1 วา รูปลักษณะเหมือนรอยพระพุทธบาทจริง และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 นอกจากนี้ยังมีพระเจ้าใหญ่พุทธฉัพรรณรังสีพระพุทธ รูปปูนปั้นสีขาวองค์ใหญ่และตามพระวรกายยังประดับด้วยกระจกเงาชิ้นเล็กๆ ให้ได้สักการะและสิ่งที่โดดเด่น สะดุดตาต่อผู้มาเยือนอีกสิ่งหนึ่งก็คือ ปูนปั้นรูปควายเงินที่ตั้งอยู่บริเวณลานจอดรถทางเข้าวัดนั่นเอง
มาเที่ยวเชียงคานทั้งทีลองหาโอกาสดีๆ แวะมาเที่ยววัดพระพุทธบาทภูควายเงินทำบุญทำทานทำใจให้สงบกันดูบ้าง แล้วจะรู้ว่าศาสนาไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะนอกจากจะได้อิ่มอกอิ่มใจกับวิวสวยๆ อากาศดีๆ แล้วยังได้อิ่มบุญกลับบ้านไปแบบเต็มๆ กันอีกด้วย
สถานที่ตั้ง
วัดพระพุทธบาทภูควายเงิน ตั้งอยู่ ตำบลบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
ลักษณะรูปแบบศิลปกรรม
เดิมเป็นรอยธรรมชาติบนแท่นหินแกรนิต สันนิษฐานว่ามีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 22 – 24 ในช่วงสมัยวัฒนธรรมล้านช้าง ภายหลังได้มีการตกแต่งก่ออิฐฉาบปูนทาสีทอง ลักษณะนิ้วพระบาทเรียบเสมอกันสลักลายก้นหอย กลางฝ่าพระบาทตกแต่งลวดลายกลีบดอกไม้เลียนแบบพระธรรมจักร ด้านข้างยกเป็นสันขอบขึ้นมาเล็กน้อย มีขนาดกว้างประมาณ 1.8 เมตร และ 1.1 เมตร ยาวประมาณ2 เมตร
ประเภทโบราณสถาน
ปูชนียสถานในพระพุทธศาสนา
ลักษณะการใช้งานในปัจจุบัน
สถานที่เคารพบูชาของท้องถิ่นและบุคคลทั่วไป
การดำเนินงาน
พ.ศ.2528 ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ตามรูปแบบดั้งเดิม เนื่องจากถูกลักลอบขุดทำลาย
การขึ้นทะเบียน
กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 วันที่ 8 มีนาคม 2478
ที่มาของข้อมูล
1.ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 วันที่ 8 มีนาคม 2478 หน้า 3698
2.หน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่น , รายงานการตรวจสอบการทำลายพระพุทธบาทภูควายเงิน บ้านผาแบ่น ตำบลบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย , เอกสารอัดสำเนา , 2528.
3.สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น , ทำเนียบโบราณสถานอีสานบน , เอกสารอัดสำเนา , 2542.
4.หน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่น , รายงานการตรวจสอบการทำลายพระพุทธบาทภูควายเงิน , เอกสารอัดสำเนา , 2528.
การเดินทาง
จากอำเภอเชียงคาน ใช้เส้นทางหมายเลข 211 ไปทางแก่งคุดคู้ ถึงบ้านผาแบ่น เลี้ยวขวาเข้าตามป้ายวัด ขับไปตามเส้นทาง จะพบประตูโขงวัด ฝั่งขวามือ เลี้ยวขวาขึ้นไปยังจุดหมาย
เบอร์โทรศัพท์
-
ข้อมูลจาก :http://www.thetrippacker.com/
http://www.finearts.go.th