เริ่มก่อตั้งประมาณปี พ.ศ. 2506 โดยมีคนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนมาจากบ้านเมี่ยง อำเภอท่าลี่ และมาจากจังหวัดของแก่น และ ได้ดำเนินการขอจัดตั้งชื่อหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2510
บ้านห้วยผุก
หมู่ที่ 2 ตำบลน้ำแคม อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย
ความหมายของชื่อหมู่บ้าน
ห้วย หมายถึง ลำน้ำที่ไหลจากภูเขา คำว่า “ผุก” คือ พันธุ์พืชชนิดหนึ่ง ใบมีลักษณะคล้ายใบมันเทศ ดอกมีกลิ่นหอม พืชชนิดนี้ขึ้นอยู่เต็มริมฝั่งลำห้วย และหมู่บ้านมีการปลูกสร้างบ้านเรือนตั้งเรียงยาวไปตามริมห้วย จึงมีการนำคำพูด 3 พยางค์นี้มารวมกัน จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านห้วยผุก”
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน
บ้านห้วยผุก หมู่ที่ 2 ตำบลน้ำแคม อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย เริ่มก่อตั้งประมาณปี พ.ศ. 2506 โดยมีคนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนมาจากบ้านเมี่ยง อำเภอท่าลี่ และมาจากจังหวัดของแก่น โดยมีนายวัง กาญจนสิทธิ์ นายชุน ขุนคำ นายไพรสาร สวาสนา นายศรีจันทร์ สวาสนา นายวาริน กุลเทียน ประดิษฐ์ นายยันต์ พรหมภักดิ์ ตามด้วยกลุ่มที่ 2 มาจากบ้านห้วยคัง มีนายสอ ตัญญาภักดิ์ นายพี ธัญญรักษ์ นายเกราะ สาระพันธ์ นายพุผฒิ วินากร นายนาค แพงศรี นายหมวด แข็งบุญ นายปุ่น ขันทะคีรี นายทองใส วินากร ได้ดำเนินการขอจัดตั้งชื่อหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2510 และขอตั้งโรงเรียนและวัด เมื่อปี พ.ศ. 2512
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ภูช้าง
ภูช้าง มีรูปร่างลักษณะเหมือนช้างที่นอนอยู่ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านห้วยผุก ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 3 ก.ม. มีคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาว่า เมื่อครั้งกำลังสร้างเมืองวียงจันท์ (ประเทศ สปป.ลาว) เมืองต่าง ๆ ที่ขึ้นกับเมืองเวียงจันท์ต่างก็ได้นำ ข้าว ของ เงิน ทอง ไปร่วมสมทบในการก่อสร้าง ได้มีสามเณรรูปหนึ่งได้นำข้าวของเงินทอง บรรทุกช้างและคณะหาบหามข้าวของต่าง ๆ เดินทางไปร่วมสมทบสร้างเมืองเวียงจันท์ เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณภูช้างพบกับนายพรานคนหนึ่งนายพรานได้บอกว่า การสร้างเมืองเวียงจันท์นั้นได้เสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้ว สามเณรจึงได้สั่งให้คณะหยุดพัก ในขณะที่หยุดพักนั้นสามเณรได้ลงจากหลังช้างเพื่อจะไปตักน้ำมาดื่ม ขณะที่กำลังเดินผ่านช้างไป ช้าง (สมัยนั้นเข้าใจว่าคงรู้ภาษา) รู้ว่านำข้าวของเงินทองไปร่วมสร้างไม่ทัน ประกอบกับตามประเพณีแล้ว ผู้ที่จนำข้าวของเงินทองไปร่วมสร้างเวียงจันท์นั้นหากไปไม่ทัน เมื่อไปถึงที่ใดให้ฝังข้าวของเงินทองไว้บริเวณนั้น ขณะเดียวกันช้างได้ใช้ขาปัดสามเณรล้มลง พร้อมได้นอนทับสามเณรนั้นไว้ ต่อมาจึงได้ปรากฏเห็นเป็นภูเขาเหมือนช้างนอนอยู่ ให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้
ข้อมูลจาก ประวัติศาสตร์หมู่บ้านและชุมชนในจังหวัดเลย อำเภอปากชม โดย กศน.อำเภอปากชม จังหวัดเลย โครงการหนังสือสามัญประจำบ้าน สำนักงาน กศน. จังหวัดเลย พ.ศ.2553