บ้านห้วยผุกตั้งขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2380 มีอายุ 160 ปี มีครัวเรือน 122 หลังคา มีประชากร 304 คน
ประวัติบ้านห้วยผุก
หมู่ที่ 1 ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
ประวัติดั้งเดิม
มีนายจันทร์ ไม่ทราบนามสกุล เป็นชาวด่านซ้ายได้อพยพครอบครัวลงมาทางทิศตะวันออกของอำเภอด่านซ้าย การอพยพของนายจันทร์ได้มีญาติพี่น้องและพรรคพวกติดตามมาด้วย เมื่อเห็นที่ทำเลที่เหมาะสมทำมาหากินจึงได้ตั้งถิ่นฐานเป็นที่อยู่อาศัย ในบริเวณนั้นเป็นเวลา 3 ปีบ้าง 5 ปีบ้าง ในทำนองนี้เรื่อยมา โดยอาศัยการทำไร่ปลูกข้าวตามไหล่เขา และล่าสัตว์ป่าเป็นอาชีพ ในสมัยนั้นสัตว์ป่าเช่น เก้ง กวาง หมู่ป่าและสัตว์อื่นๆ ชุกชุมมาก ประกอบกัน นายจันทร์ เป็นนายพานมีความชำนาญในเรื่องการล่าสัตว์ จึงรู้จักภูมิประเทศเป็นอย่างดี
วันหนึ่งแกได้ติดตามแรด ซึ่งเป็นสัตว์ป่าชนิดหนึ่งขนาดตัวเท่ากระบือมีสีดำ อ้วนและบึกบึนมีเขามีนอประจำตัวของมัน เรียกว่า นอแรด นายจันทร์ได้ติดตามแรดตัวนั้นไปที่ภูบริเวณภูลูกหนึ่งพร้อมทั้งใช้ปืนลูกซองคู่ชีพของแกยิงแรดตัวนั้นที่ ภูบักได ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอภูเรือ แรดตัวนั้นถูกปืนนายจันทร์ไม่ตายคาที่ มันได้รับบาดเจ็บสาหัส มันวิ่งลงมาจากภูบักได ลงมาที่ราบ ทางบ้านท่าศาลา อำเภอภูเรือ ผ่านมาทางบ้านถ้ำมูลใหญ่ ลงมาทางบ้านกกกอก บ้านหมาก-แข้ง บ้านกกบก ขึ้นไปภูบ่อ ภูโปก ลงมาทางบ้านห้วยผุกเหนือ นายจันทร์ไล่ล่าแรดตัวนั้นมา เป็นเวลา 6 วัน 6 คืน ก็พอดีข้าวหมดไม่มีข้าวกิน ได้กินแต่เนื้อแห้งที่เตรียมมาจากบ้าน ร่างกายซุ่มผอมลง อ่อนแอไม่มีกำลัง จิตใจก็ท้อทอยก็เลยไม่ติดตามแรดตัวนั้นต่อ สุดท้ายก็เดินทางกลับ ขณะที่เดินทางกลับบ้าน ได้เดินผ่านมาพบบริเวณแห่งหนึ่งที่เป็นที่ราบลุ่ม ริมภูเขามีลำห้วยไหลผ่านที่เรียกกันว่า ลำห้วยผุก
ลำห้วยผุกไหลไปตกที่ลำน้ำฮวยตรงกันข้ามกับบ้านนาหนองบงปัจจุบัน ที่ดินบริเวณนี้นายจันทร์ได้พิจารณาดูแล้วว่าเป็นที่เหมาะสมแก่การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนมีดินดี น้ำดี อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ครั้นแล้วอีกไม่นานแกกับพรรคพวกก็ชวนกันอพยพมาจากถิ่นเดิมมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านห้วยผุก พวกที่ติดตามนายจันทร์มาด้วยก็เลยเลือกนายจันทร์เป็นผู้ใหญ่บ้านของเขาและตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า บ้านห้วยผุก เพระตั้งอยู่ริมน้ำห้วยผุก เมื่ออยู่กันมานานมีลูกมีหลานก็ไม่อยากโยกย้ายไหนอีกครั้นต่อมาประมาณ 40 – 50 ปี มีคนในหมู่บ้านเกิดล้มป่วย เป็นไข้ป่าซึ่งเป็นโรคติดต่อ สมัยนั้นเขาเรียกว่าเป็นอหิวาตกโรค ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากแม้แต่ผู้ใหญ่บ้านก็ตาย ส่วนคนที่รอดตายก็อพยพข้ามมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่ฝั่งขวามือ ซึ่งมีความห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านห้วยผุกในปัจจุบันและได้เอาชื่อเดิมมาเป็นชื่อหมู่บ้านตั้งแต่นั้นมา บ้านห้วยผุกตั้งขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2380 มีอายุ 160 ปี มีครัวเรือน 122 หลังคา มีประชากร 304 คน มีผู้ใหญ่บ้าน กำนันปกครองจนถึงปัจจุบันนี้รายชื่อกำนันและผู้ใหญ่บ้านบ้านห้วยผุกประกอบด้วย
1.นายสีดา พรมโสภา
2. นายเรียม แก้วอุดม
3.นายมาย ไม่ทราบนามสกุล
4. นายตั้ง คำไล้
5.นายมูล ศรีทอง ( กำนัน )
6. นายประดิษฐ์ มูลศรี ( กำนัน )
7.นายทองสุข เชื้อภักมี ( กำนัน )
8. นายเพชร ตะพานบุญ
9.นายอนันต์ ศรีบุญเรือง
10. นายล้วน คำมิ่ง ( กำนัน )
11.นายทศวรรษ สาวิยะ ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน
สถานที่สำคัญที่ควรทราบ
บ้านห้วยผุกมีโรงเรียนประถมศึกษา 1 แห่ง
สถานีอนามัยประจำตำบล 1 แห่ง
วัด 2 แห่ง ( วัดป่า 1 แห่ง วัดบ้าน 1 แห่ง )
อาชีพหลักของบ้านห้วยผุก การทำไร่ ทำนา ไร่ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่ว ยางพาราและอื่นๆอาชีพปัจจุบัน ทำสวนยาง กรีดยางและที่ลืมไม่ได้ประชากรวัยหนุ่มสาวทำงานที่บริษัททุ่งคำที่เปิดสัมปทานขุดเจาะแร่ทองคำที่บ้านนาหนองบงการศึกษา จบประถมในโรงเรียนหมู่บ้าน ส่งลูกเรียนตามโรงเรียนที่นิยมและตามฐานะ ซึ่งขึ้นอยู่ตามศักยภาพของครอบครัว
ศาสนาที่นับถือ ร้อยละ 95 % นับถือศาสนาพุทธระดับความเป็นอยู่ของประชากร เรียบง่าย ตามอัตภาพ รักบ้านเกิด ถิ่นฐาน เอื้อเฟื่อเผื่อแผ่ ประเพณีต่างๆ เหมือนกับชุมชนอื่นๆ เช่น แต่งงาน บายศรีสู่ขวัญ ขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ
ผู้ให้ข้อมูล นายมูล ศรีทอง อดีตกำนันตำบลเขาหลวง