ห้วยเป้า หมายถึง ลำน้ำซึ่งมีต้นเป้าอยู่มาก ซึ่งชื่อหมู่บ้านเรียกตามลำห้วยที่ชาวบ้านได้อาศัยน้ำในหมู่บ้าน
ประวัติศาสตร์บ้านห้วยเป้า
หมู่ 5 ตำบลปากชม อำเภอปากชม จังหวัดเลย
ความหมายของชื่อหมู่บ้าน
ห้วย หมายถึง ลำน้ำที่ไหลจากภูเขา เป้า หมายถึง ชื่อไม้ชนิดหนึ่ง ลำต้นโตขนาดกลางใบยาวประมาณ 1 ฟุตมีกลิ่นฉุน ลำต้นมีเปลือกสีน้ำตาลอ่อน เป็นไม้เนื้ออ่อน ประโยชน์ ใบใช้อังไฟประคบร่างกายแก้ฟกช้ำดำเขียว
กิ่งและต้นใช้ต้มอาบแก้คัน ใช้เป็นยาสมุนไพร และใช้เป็นฟืน ห้วยเป้า จึงหมายถึง ลำน้ำซึ่งมีต้นเป้าอยู่มาก
ประวัติของหมู่บ้าน
บ้านห้วยเป้า หมู่ที่ 5 เริ่มแรกหมู่บ้านนี้ตั้งตรงต่อบ้านห้วยเทียน หมู่ที่ 4 ตำบลปากชม ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2516 – 2517 ได้มีการย้ายหมู่บ้านนี้เข้ามาอาศัยมากขึ้นประมาณ 35 ครัวเรือน ซึ่งเกิดจากการที่ชาวบ้านไม่ยอมย้ายออกไปที่อื่นและต่อสู้จนเป็นหมู่บ้าน โดยใช้ชื่อว่าบ้านห้วยเป้า เรียกตามลำห้วยที่ชาวบ้านได้อาศัยน้ำในหมู่บ้าน และต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2520 ราษฎรได้รวมตัวกันขอโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนมาจัดตั้งเพื่อให้บุตรหลานได้เรียนหนังสือและเสร็จสิ้นเมื่อปี พ.ศ. 2521 เมื่อปลายปี 2522 ผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือ นายภาพ สายตาดำและปัจจุบันมีนางอุบลรัตน์ รามศิริ เป็นผู้ใหญ่บ้าน
ลักษณะที่ตั้งของหมู่บ้าน
บ้านห้วยเป้า หมู่ที่ 5 ตำบลปากชม ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ของอำเภอปากชม ห่างจากอำเภอปากชม ประมาณ 13 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดเลย ประมาณ 80 กิโลเมตร พื้นที่ของหมู่บ้านทั้งหมด ประมาณ 3,500 ไร่
อาณาเขตติดต่อของหมู่บ้าน
ทิศเหนือ ติดกับบ้านวินัย หมู่ที่ 11ตำบลปากชม อำเภอปากชม
ทิศใต้ ติดกับบ้านห้วยผักกูด หมู่ที่ 8ตำบลเชียงกลม อำเภอปากชม
ทิศตะวันออก ติดกับบ้านซำไฮ หมู่ที่ 7ตำบลเชียงกลม อำเภอปากชม
ทิศตะวันตก ติดกับบ้านห้วยเทียน หมู่ที่ 4ตำบลปากชม อำเภอปากชม
ลักษณะภูมิประเทศ / ลักษณะพื้นที่ของหมู่บ้าน
เป็นพื้นที่ภูเขาสลับซับซ้อนมีความลาดชัน เป็นพื้นที่ราบเชิงเขาเล็กน้อย หมู่บ้านตั้งอยู่กลางหุบเขา มีลำห้วยเป้าไหลผ่านข้างหมู่บ้าน พื้นที่ทำการเกษตรใช้บริเวณเชิงเขาและเนินภูเขา เช่น ไร่ข้าว ไร่โพดเลี้ยงสัตว์ สวนมะม่วง
สวนกล้วยน้ำว้า สวนลำไย สวนมะขาม ไร่มันสำปะหลัง ไร่ถั่วต่างๆ และการปลูกพืชเศรษฐกิจตัวใหม่คือการปลูกยางพารา
แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญๆ ในหมู่บ้าน
วัดประจำหมู่บ้านคือ วัดน้ำตกห้วยเป้า
ประเพณี / วัฒนธรรม
วัฒนธรรมตามประเพณีทั่วไป เช่น บุญกฐินบุญมหาชาติ บุญบั้งไฟ บุญออกพรรษา ไหว้ศาลเจ้าปู่ประจำหมู่บ้าน และการปฏิบัติตามพระพุทธศาสนาปราชญ์ชาวบ้าน จำนวน 7 คน
1. นายบุญจันทร์ ศรเพชร ปราชญ์ด้านพิธีกรรมทางศาสนา
2. นายกอง แสงนิน ปราชญ์ด้านการจักสาน(ไม้ไผ่)
3. นายบุญ มีแก้ว ปราชญ์ด้านดนตรี (เป่าแคน)
4. นางเอกไคว้ คำแก้ว ปราชญ์ด้านหมอนวดแผนโบราณ
5. นายอดิศักด์ พิมพ์สวัสดิ์ ปราชญ์ด้านหมอลำ
6. นายบุญลือ คงน้อย ปราชญ์ด้านการจักสาน (แห,สวิง,อวน)
7. นางสำรอง พลบูรณ์ ปราชญ์ด้านสาธารณสุข (หมดตำแยพื้นบ้าน)
ข้อมูลจาก ประวัติศาสตร์หมู่บ้านและชุมชนในจังหวัดเลย อำเภอปากชม โดย กศน.อำเภอปากชม จังหวัดเลย โครงการหนังสือสามัญประจำบ้าน สำนักงาน กศน. จังหวัดเลย