หาดคัมภีร์ หมายถึง บริเวณที่ที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับคัมภีร์
ประวัติบ้านหาดคัมภีร์
หมู่ 1 ตำบลหาดคัมภีร์ อำเภอปากชม จังหวัดเลย
ความหมายของชื่อหมู่บ้าน
หาด หมายถึง บริเวณที่พื้นที่เป็นที่ราบริมฝั่งน้ำซึ่งประกอบด้วยหินปนทราย
คัมภีร์ หมายถึงตำราที่ยกย่อง หนังสือที่บรรจุด้วยคำสั่งสอนซึ่งทำขึ้นสำหรับเผยแพร่ ตำราโหราศาสตร์ ตำราแพทย์
หาดคัมภีร์ หมายถึง บริเวณที่ที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับคัมภีร์
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน
ประมาณปี พ.ศ. 2422 หลวงขัน, นายลา ลาน้อย และนายเก้า จันดามี ราษฎรบ้านท่าดีหมี ตำบลปากตมอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ได้พาครอบครัวอพยพล่องมาตามลำน้ำโขงตั้งครอบครัวอยู่บริเวณบ้านหาดคัมภีร์ในปัจจุบันรวม 3 ครอบครัว ทำมาหากินสืบมาประมาณ 3 ปี ก็ขยายบ้านขึ้นมาอีกประมาณ 7 ครอบครัว ในระหว่างนั้นมีพระภิกษุรูปหนึ่งเดินทางผ่านมายังหมู่บ้านแห่งนี้และได้ทำคัมภีร์หล่นหาย แต่บางกระแสกล่าวว่าเหตุที่คัมภีร์หล่นหายนั้นเนื่องจากสมัยก่อนการคมนาคมยังไม่สะดวกการเดินทางส่วนมากต้องโดยสารทางเรือ เมื่อพระภิกษุธุดงค์มาถึงบริเวณแก่งจันทร์ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีน้ำวนและเชี่ยวมากทำให้คัมภีร์ที่พระภิกษุนำมาด้วยนั้นหล่นหายไป จึงเป็นที่มาในการตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “หมู่บ้านบ้านหาดคัมภีร์”
ลักษณะที่ตั้งของหมู่บ้าน
บ้านหาดคัมภีร์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอปากชม ตามถนนสายปากชม – ศรีเชียงใหม่ ห่างจากอำเภอปากชมประมาณ 21 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดเลยประมาณ 120 กิโลเมตร พื้นที่หมู่บ้านทั้งหมดประมาณ 2,000 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่ เป็นหุบเขาสลับที่ราบลุ่มและแม่น้ำ เหมาะแก่การทำการเกษตร มีจำนวน 176 หลังคาเรือน ประชากร 985 คน แยกเป็น ชาย 352 คน หญิง 333 คน
อาณาเขตติดต่อของหมู่บ้าน
ทิศเหนือ ติดต่อกับแม่น้าโขง ส.ป.ป.ลาว
ทิศใต้ ติดต่อกับบ้านนาโม้ หมู่ 6
ทิศตะวันออก ติดต่อกับบ้านคกเว้า หมู่ 2
ทิศตะวันตก ติดต่อกับบ้านปากมั่ง หมู่ 5
ผู้นำชุมชน
1. นายทัน ขำลึก
2. นายสีอะ
3. นายทองจันทร์ ขำลึก
4. นายสด ธุระดี
5. นายสง่า สุขะ
6. นายสุดตา ทองมา
7. นายสว่าง มีตา
8. นายหนัก สุพันรัง
9. นายสมัคร ธุระดี
10.นายเสกสรร ถาหล้า (เป็นกำนัน ปัจจุบัน)
11. นายสมทรัพย์ สระสม เป็น สมาชิกอบต. หมู่ที่ 1
12. นางปัทม์พร จากศรี เป็น สมาชิกอบต. หมู่ที่ 1
สถานที่สำคัญ, แหล่งท่องเที่ยว
สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของหมู่บ้านหาดคัมภีร์ได้แก่ แก่งจันทร์ ซึ่ง แก่งจันทร์ เป็นแหล่งน้ำไหลที่สวยงามตามธรรมชาติ ตามประวัติกล่าวว่า ได้มีท้าวคำหมื่นและนางมณีจันทร์ ได้เดินทางผ่านมาเพื่อไปยังหลวงพระบาง ได้มาแวะค้างคืนด้วยกันที่ ดอนจันทร์ (เกาะซึ่งอยู่ระหว่างบ้านหาดคัมภีร์และบ้านคกเว้า) ดังนั้นเกาะนั้นจึงเรียกว่า ดอนจันทร์ และเรียกชื่อแก่งตามดอนนี้ว่า แก่งจันทร์ จนถึงทุกวันนี้
ประเพณี / วัฒนธรรม
1. ประเพณี บุญเดือน 4 จะจัดขึ้นช่วงเดือน มีนาคมหรือ เดือนเมษายน ของทุกปี
2. ประเพณี แข่งเรือพาย จะจัดขึ้นช่วงเทศกาลออกพรรษาของทุกปี
ข้อมูลจาก ประวัติศาสตร์หมู่บ้านและชุมชนในจังหวัดเลย อำเภอปากชม โดย กศน.อำเภอปากชม จังหวัดเลย โครงการหนังสือสามัญประจำบ้าน สำนักงาน กศน. จังหวัดเลย พ.ศ.2553