ครั้งแรกที่สุดชื่อว่า บ้านก้างปลาปก ต่อมาเสียงได้เพี้ยนมาเป็น แก้งปลาปก และในเวลาต่อมาอีกเสียงได้เพี้ยนมาเป็น แก่งปลาปก
ประวัติบ้านแก่งปลาปก
หมู่ 4 ตำบลชมเจริญ อำเภอปากชม จังหวัดเลย
ความหมายของชื่อหมู่บ้าน
แก่ง หมายถึง พืดหิน หรือโขดหินที่กีดขวางทางน้ำ
ปลาปก เป็นปลาชนิดหนึ่งซึ่งรูปร่างป้อมๆ คล้ายปลาตะเพียน มีเกล็ด
ประวัติความเป็นมาของการตั้งชื่อหมู่บ้าน
ประวัติที่เล่าต่อกันมาว่า ครั้งแรกที่สุดชื่อว่า บ้านก้างปลาปก ต่อมาเสียงได้เพี้ยนมาเป็น แก้งปลาปก และในเวลาต่อมาอีกเสียงได้เพี้ยนมาเป็น แก่งปลาปกตามคำบอกเล่าต่อกันมาว่า มีพรานป่าจำพวกหนึ่งออกหาล่าเนื้อล่าสัตว์มาตามป่าตามเขา พอมาถึงห้วยแห่งหนึ่ง (ห้วยน้ำชมที่ไหลผ่านหมู่บ้านปัจจุบัน) พวกพรานก็ลงไปหาน้ำกินกันและไปพบซากของปลาตายอยู่ที่หาดทราย คนพวกนี้สันนิษฐานว่าเป็นก้างปลาของปลาปก (ปลาตะเพียน)ซึ่งปลาตัวนี้มีก้างใหญ่ประมาณเท่าเส้นหญ้าคา (เท่ากับตะปูนิ้ว) ซึ่งในเวลาต่อมาพรานพวกนี้เห็นว่าที่บริเวณนี้เป็นทำเลเหมาะแก่การทำมาหากิน จึงพากันมาตั้งบ้านเรือนอยู่แถบบริเวณดังกล่าวนี้ และตั้งชื่อบ้านว่าบ้านแก่งปลาปกต่อมาเสียงจึงได้เพี้ยนมาเรื่อยๆ ตามที่กล่าวแล้วข้างต้นบ้านแก่งปลาปก หมู่ที่ 4 ตำบลชมเจริญ อำเภอปากชม แต่ก่อนนั้นเป็นบ้านวังกุ่ม บ้านเรือนชาวบ้านจะติดริมห้วยหรือวังตามลำห้วย และต่อมาได้ติดโรคระบาดขึ้นจึงพากันอพยพย้ายเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ปัจจุบันคือ บ้านแก่งปลาปก ผู้ที่มาตั้ง คือ นายจูม ส้านสิงห์ และต่อมาได้มีครัวเรือนเพิ่มขึ้นจึงขยายเขตหมู่บ้านออกมาเป็น หมู่ 5 อีกหนึ่งบ้าน เมื่อ พ.ศ.2506 บ้านแก่งปลาปก เดิมชื่อว่า “บ้านก้างปลาปก” ต่อมาคนรุ่นหลังเรียกชื่อกันเพี้ยนไปและกลายมาเป็น “บ้านแก่งปลาปก” จนมาถึงปัจจุบันนี้
ลักษณะที่ตั้งของหมู่บ้าน
บ้านแก่งปลาปก หมู่ที่ 4 ตำบลชมเจริญ ตั้งอยู่ที่ทางทิศใต้ของอำเภอปากชม ห่างจากอำเภอปากชมประมาณ 24 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดเลย ประมาณ 65 กิโลเมตร ตามถนนสายบ้านธาตุ – ปากชม พื้นที่ของหมู่บ้านทั้งหมด ประมาณ 14,535 ไร่จำนวนหลังคาเรือน ทั้งหมด 110 หลังคาเรือน ประชากร 465 คน แยกเป็น ชาย 205 คน หญิง 260 คน
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ ติดกับบ้านห้วยเทียน หมู่ที่ 4ตำบลปากชม อำเภอปากชม
ทิศใต้ ติดกับบ้านห้วยอาลัย หมู่ที่ 3ตำบลชมเจริญ อำเภอปากชม
ทิศตะวันออก ติดกับบ้านปางคอม หมู่ที่ 1ตำบลเชียงกลม อำเภอปากชม
ทิศตะวันตก ติดกับบ้านท่าบม ตำบลเขาแก้วอำเภอเชียงคาน
ลักษณะที่ตั้งของหมู่บ้าน
เป็นพื้นที่ราบภูเขา และลาดชันตามไหล่เขาประมาณ 70% ของพื้นที่
การใช้ประโยชน์ของพื้นที่
- ที่อาศัย ประมาณ 650 ไร่
- ที่ทำการเกษตร ประมาณ 7,500 ไร่
- ที่สาธารณะหมู่บ้าน ประมาณ 6,451 ไร่
ผู้นำชุมชน
1. นายสาน สมอ่อน (อดีตผู้ใหญ่บ้าน)
2. นายวัต ไชยแสง (อดีตผู้ใหญ่บ้าน)
3. นายสมรส ประสงค์ (อดีตผู้ใหญ่บ้าน)
4. นายใบ ส้านสิงห์ (อดีตผู้ใหญ่บ้าน)
5. นายสำนึก พิลาดี (อดีตผู้ใหญ่บ้าน)
6. นายบุญเหลือ สมอ่อน ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน
ประเพณี / วัฒนธรรม
มีบุญประจำปี ตามเทศกาลของชาวอีสาน หรือฮีตสิบสอง ครองสิบสี่
สถานที่สำคัญในหมู่บ้าน
โบราณสถาน สิม (โบสถ์)
ความหมายของชื่อและประวัติ
เล่ากันว่าเป็นโบสถ์ที่มีมาพร้อมกับตั้งหมู่บ้าน ซึ่งขณะนี้ยังคงเหลือแต่ซากของก้อนอิฐหักพังเป็นกองบ้างเป็นหลุมเป็นบ่อบ้าง ซึ่งหลุมนั้นมีความกว้างประมาณ 20 เซนติเมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 200 เซนติเมตร ตามคำบอกกล่าวเล่ากันว่า หลุมนั้นถูกคนขุดหาของเก่าบ้าง และบางทีก็บอกว่าเป็นฝูงช้างป่าลงมาขุดคุ้ยเล่นดินกินโป่ง
ข้อมูลจาก ประวัติศาสตร์หมู่บ้านและชุมชนในจังหวัดเลย อำเภอปากชม โดย กศน.อำเภอปากชม จังหวัดเลย โครงการหนังสือสามัญประจำบ้าน สำนักงาน กศน. จังหวัดเลย พ.ศ.2553