บุญข้าวพันก้อน กับการแห่กัณฑ์หลอน บ้านยาง อ.ท่าลี่ จ.เลย บ้านยาง ถือเป็นอีกหนึ่งชุมชนเก่าแก่ของจังหวัดเลย
มีการย้ายที่ตั้งหมู่บ้านหลายครั้ง อีกทั้งยังมีพระธาตุเก่าแก่คู่บ้าน นั้นก็คือ พระธาตุอุโมงค์ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
คือภูผาแง่มนอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ชุมชนบัานยาง ยังมีการรักษาประเพณีโบราณต่างๆไว้ Gotoloei
ได้มีโอกาสไปสัมผัสและร่วมกับชุมชน จักหนึ่งในประเพณีโบราณ นั้นก็คือบุญข้าวพันก้อน บุญข้าวพันก้อนจะมีที่มา
และความสำคัญ อย่างไรนั้น มาเรียนรู้ไปพร้อมกับ Gotoloei กันครับบุญข้าวพันก้อนบ้านยางจัดขึ้นทุกปีในค่ำคืนของวันที่ ๑๕ เมษายน ชาวบ้านจะมาร่วมตัวกันที่วัดอุโมงมังคาราม ในช่วงเย็นจะมีการแห่ทุง หลังจากนั้นชาวบ้านจะกลับไปบ้านอาบน้ำอาบท่าให้เนื้อตัวสะอาด เพื่อกลับมาทำข้าวพันก้อนในเวลาประมาณ ๑ ทุ่ม
เมื่อได้เวลาชาวบ้านจะนำข้าวเหนียวของแต่ละบ้านมานึ่ง ในระหว่างนั้นก็จะมีการขับร้องเพลงกันไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างความสนุกสนาน
ในเวลาประมาณ ๔ ทุ่มก็จะเริ่มทำข้าวพันก้อนกัน การทำต้องทำให้ครบ ๑,๐๐๐ ก้อน โดยชาวบ้านจะทำไม้ไว้ทั้งหมด ๑๐๐ ไม้ และใน ๑ ไม้จะมีข้าวทั้งหมด ๑๐ ก้อน เมื่อรวมกันทั้งหมดก็จะได้ ๑,๐๐๐ ก้อนครบตามจำนวนพอดี
และหากถามถึงว่าทำไมต้อง ๑,๐๐๐ ก้อนด้วย ก็เนื่องมาจากเพื่อบูชาคาถาของพระพุทธเจ้าที่มีทั้งหมด ๑,๐๐๐ คาถา
คำว่า คาถา ในที่นี้หมายถึง คำเรียกบทร้อยกรองในภาษาบาลี ๑ บท เท่ากับ ๔ บาท
คาถาพัน เป็นคำเรียกชาดกเรื่อง เวสสันดรชาดก ซึ่งแต่งเป็นคาถาภาษาบาลีมีจำนวนคาถาประมาณ ๑๐๐๐ บท จึงเรียกว่า คาถาพัน. และเมื่อเทศน์คาถาเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๐๐๐ บทนั้น ติดต่อกันรวดเดียวจบ เรียกว่า เทศน์คาถาพัน.
เป็นธรรมเนียมถือกันมาแต่โบราณว่า การเทศน์คาถาพันต้องระวังมิให้ผิดพลาดหรือตกหล่น มิฉะนั้นจะเป็นบาปหนัก. การบูชากัณฑ์ก็ถือว่า ต้องใช้เครื่องบูชาเท่าจำนวนคาถา.
เครื่องบูชากัณฑ์นิยมใช้ ธง ๕ สี ธูป เทียน ดอกบัว ทุกอย่างจำนวนอย่างละ ๑๐๐๐.
ซึ่งมีจำนวนพระคาถา 1,000 พระคาถาดังนี้ครับ
1. ทศพร 19 คาถา
2. หิมพานต์ 134 คาถา
3. ทานกัณฑ์ 209 คาถา
4. วนปเวสน์ 57 คาถา
5. ชูชก 79 คาถา
6. จุลพน 35 คาถา
7. มหาพน 80 คาถา
8. กุมาร 101 คาถา
9. มัทรี 90 คาถา
10. สักกบรรพ 43 คาถา
11. มหาราช 69 คาถา
12. ฉกษัตริย์ 36 คาถา
13. นครกัณฑ์ 48 คาถา
รวม 1,000 คาถา
เชื่อว่าการบูชาด้วยข้าวพันก้อน จะทำให้คาถา ทั้ง 1,000 ยังคงความขลัง อยู่จึงต้องทำทุกปีและอีกนัยหนึ่งก็เป็นกุศโลบายให้เกิดความรัก ความสามัคคีกัน รวมแรงรวมใจกันทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
เมื่อชาวบ้านทำต้นข้าวพันก้อนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในเวลาประมาณเที่ยงคืนเป็นต้นไปก็ทำการแห่ต้นข้าวพันก้อน และต้นกัณฑ์หลอนออกไปทั่วหมู่บ้านยาง มีขบวนบันเทิงสร้างความสนุกสนานตลอดเส้นทาง หากบ้านไหนยังไม่ได้ทำบุญชาวบ้านก็จะไปทุบประตูบ้านเพื่อปลุกให้เพื่อนบ้านออกมาทำบุญร่วมกัน บางบ้านจะมีการให้ขนมนมเนยอาหาร น้ำ เครื่องดื่มต่างๆ ติดไม้ติดมือมาด้วย
การแห่จะจบลงเมื่อวนไปจนทั่วทั้งหมู่บ้าน แล้วกลับไปที่วัดเพื่อถวายต้นข้าวพันก้อน และต้นกัณฑ์หลอนให้กับเจ้าอาวาส หากเจ้าอาวาสจำวัดอยู่ชาวบ้านก็จะไปปลุกเพื่อให้ท่านช่วยตื่นมารับบุญในครั้งนี้ที่ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจกันทำมา
ความน่ารักของชุมชน ความสามัคคี มีน้ำใจของชาวบ้านยางยังคงมีเปี่ยมล้น หากท่านอยากสัมผัสความสุข ความสามัคคีของชุมชน กับประเพณีโบราณที่สืบทอดต่อกันมาหลายร้อยปี 15 เมษายน ของทุกปี อย่าลืมมาสัมผัส ความสุขนี้กันนะครับ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
สนใจท่องเที่ยวติดต่อได้ที่
ชมรมท่องเที่ยวภูผาแง่ม-มะค่ายักษ์0637323245 Gotoloei
0982104626 ผู้ใหญ่โรจน์
ชมรมท่องเที่ยวภูผาแง่ม-มะค่ายักษ์