ประเพณีผีขนน้ำ (แมงหน้างาม) บุญเดือนหก

ผีขนน้ำ ประเพณีผีขนน้ำ (แมงหน้างาม) บุญเดือนหก
พอถึงเดือนหก ของทุกปี สำหรับชาวบ้านนาซ่าว ถือเป็นเวลาดีของงานบุญใหญ่ Gotoloei
จะพาทุกท่านมารู้จักกับผีขนน้ำ กันครับผีขนน้ำ เป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวนาซ่าว
ตำบลนาซ่าว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย การเล่นผีขนน้ำของชาวบ้านนาซ่าวนี้
ไม่มีประวัติว่าเล่นครั้งแรกเมื่อใด แต่ชาวบ้านก็เล่นสืบมาเป็นประเพณี
เช่นที่บรรพบุรุษเคยปฏิบัติมาทุกปี
DSC_0079.jpg
งานประเพณีผีขนน้ำ เป็นงานบุญเดือนหก จัดขึ้นหลังวันวิสาขบูชา ช่วงวันแรม1-3 ค่ำ ถือเป็นงานประจำปีของชาวบ้านตำบลนาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย จัดขึ้นมาเพื่อเป็นการขอฝนในวิถีชีวิตเกษตรกรรมที่สืบทอดกันมากว่า 300 ปี กล่าวกันว่าชาวบ้านนาซ่าว แต่เดิมเป็นคนไทยพวน อพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง มาตั้งหลักแหล่งทำเกษตรกรรมที่ นาซำหว้า แล้วขยายชุมชนมาที่บ้านสองโนน แก่นของความเชื่อของประเพณีท้องถิ่นที่นี่คือการนับถือผี โดยมีจุดศูนย์รวมอยู่ที่ “เจ้าปู่” ที่พำนักในศาลเจ้าปู่นาซ่าว บริเวณปากทางหมู่บ้านใกล้กับวัดโพธิ์ศรี ในพิธีกรรมจะมีการเชิญวิญญาณเจ้าปู่มาเข้าร่างทรง เพื่อมาสื่อสารกับผีขนน้ำ ซึ่งก็คือชาวบ้านที่แต่งกายเป็นวิญญาณของวัวควาย ที่คอยติดตามผู้คนไปตักน้ำหาฟืนในขณะที่เดินผ่านห้วยหนองคลองบึง พิธีนี้อีกนัยหนึ่งก็คือการรำลึกถึงบุญคุณวัวควายที่เป็นแรงงานช่วยทำนาDSC_0137.jpg

จุดเด่นของผีขนน้ำอยู่ที่หน้ากากไม้ ไม้ที่ใช้คือไม้เนื้ออ่อนได้แก่ไม้ต้นนุ่น(ต้นงิ้ว)และไม้พญาสัตบรรณ(ต้นตีนเป็ด) มีการเขียนลวดลายสวยงาม ลายโบราณมีชื่อเรียกว่าลายบัวเครือและลายผักแว่น หน้ากากมีการวาดให้หน้าคล้ายวัวควาย ตาโต จมูกโต ฟันใหญ่ ปากมีรอยยิ้ม มีการนำหวายมาตรึงกับหน้ากากให้โค้งเหมือนเขาควาย ใช้กระดาษสีตัดเป็นริ้วประดับ ผมจะทำมาจากกาบกล้วยนำมาผึ่งแดดให้แห้งแล้วถักเป็นเปียให้ดูผมยาว การแต่งเป็นผีขนน้ำไม่ได้มีข้อกำหนดหรือข้อห้าม สามารถแต่งเป็นผีขนน้ำได้ทุกเพศทุกวัย ผีขนน้ำยังเรียกอีกชื่อว่า แมงหน้างาม
โดยเรื่องเล่ามีอยู่ว่าวิญญาณวัวควายที่ติดตามชาวบ้านเข้าหมู่บ้านมา ได้ทิ้งร่องรอยไว้เป็นขนสัตว์กับเสียงกระดึงที่ไม่สามารถมองเห็นตัว สมัยก่อนจึงเรียกกันว่า “ผีขนวัว ผีขนควาย” พอเป็นการละเล่นก็เรียกว่า การละเล่นผีขน หลังจากการละเล่นนี้ ฝนมักจะตกทุกครั้ง จึงเป็นที่มาของคำว่า “ผีขนน้ำ”DSC_0097.jpg

งานประเพณีผีขนน้ำเริ่มขึ้นในตอนเช้า เริ่มจากการเชิญร่างทรงเจ้าปู่จากศาล แล้วพามาที่ลานกีฬาสถานที่จัดงานของอบต.นาซ่าว ผู้ประกอบพิธีกรรม ชาวบ้านเรียกว่า จ้ำ เจ้าปู่ในที่นี้คือเจ้าปู่จิรมาณพและเจ้าปู่ผ่านพิภพ ผู้เป็นร่างทรงของเจ้าปู่ทั้งสองคือ บัวนางหรือเจ้าแม่นางเทียม สมัยก่อนมีความแตกต่าง โดยก่อนวันงาน จ้ำจะไปบอกชาวบ้านทุกหลังคาเรือน มีการทำพิธีเลี้ยงผีบ้าน มีการบวงสรวงสัตว์โดยนำไปผูกหลักเลี้ยงให้สัตว์ตายเอง แล้วอัญเชิญผีเจ้าปู่และผีบรรพบุรุษให้ลงมากินเครื่องเซ่น ปัจจุบันไม่มีการบวงสรวงด้วยสัตว์แล้ว เครื่องเซ่นเป็นข้าวปลาอาหารตามปกติทั่วไป
เมื่อร่างทรงเจ้าปู่เดินเข้ามายังลานพิธี บรรดาผีขนน้ำได้นั่งลง พิธีกรของงานนำเครื่องบูชาไปรับด้วยความนอบน้อม จากนั้นผีขนน้ำจำนวนหนึ่งพากันมาห้อมล้อมเจ้าปู่ พร้อมกับเต้นไปรอบๆด้วยความครึกครื้นตามเสียงเพลงจังหวะสนุกสนาน ร่างทรงของเจ้าปู่มีสีหน้ายินดีปรีดา สักพักหนึ่ง พิธีกรของงานได้เชิญร่างทรงเจ้าปู่ขึ้นไปนั่งบนเก้าอี้ที่เตรียมไว้ด้านบนเวที โดยมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้เข้าไปหาร่างทรงเจ้าปู่ มีการจุดเทียนให้ร่างทรงทำพิธีให้ เพื่อเป็นสิริมงคลและให้ได้ตามคำขอ
DSC_0189.jpg

ในขบวนแห่ผีขนน้ำ ยังมีผีขนน้ำกลุ่มที่มีเครื่องดนตรีนำมาเคาะบรรเลงเป็นสีสัน เพิ่มความสนุกสนาน มีกลอง กะลอ แคน พิณ แล้วยังมีการนำกระดิ่งมามัดข้างลำตัวให้เกิดเสียง นอกจากนี้เรายังได้เห็นอารมณ์ขันของชาวบ้านบางคน โดยหน้ากากผีขนน้ำจะมีไม้มามัดเป็นลูกระนาด ไว้ยึดถ่วงน้ำหนักกับหน้ากากไม่ให้หลุดและปิดหน้า ซึ่งไม้นี้จะห้อยอยู่ที่หลัง มีข้อความที่ทำให้คนอ่านอมยิ้ม เป็นต้นว่า ผีขนน้ำจ้า ดินแดนแห่งตำนาน ทั้งใหญ่ทั้งยาว แจ๋วจริงจัง แอบรักผัวเขา สาวลูกสองDSC_0147.jpg

ขบวนแห่ผีขนน้ำมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่วัดโพธิ์ศรี เมื่อถึงวัดผีขนน้ำได้เดินวนรอบพระอุโบสถสามรอบเป็นอันจบพิธีแล้วแยกย้ายกันไป ที่วัดโพธิ์ศรีจัดให้มีโรงทาน การออกร้านขายของ มีงานบุญทอดผ้าป่า ส่วนตอนค่ำมีมหรสพเป็นการแสดงหมอลำบนเวที

ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.sac.or.th