บุญข้าวประดับดิน

บุญข้าวประดับดิน ตามความเชื่อภาคอีสาน
บุญเดือนเก้า บุญข้าวประดับดินคือ บุญที่ทำในวันแรมสิบสี่ค่ำ เดือนเก้า (ประมาณเดือนสิงหาคม) การทำบุญข้าวประดับดิน เป็นประเพณีหนึ่งในฮีตสิบสอง นิยมทำกันในวันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้า หรือที่เรียกว่า บุญเดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน
เป็นบุญที่ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ เปรต (ชาวอีสานบางถิ่นเรียก เผต) หรือญาติมิตรที่ตายไปแล้ว ข้าวประดับดิน ได้แก่ ข้าวและอาหารคาวหวาน พร้อมหมากพลู บุหรี่ที่ห่อด้วยใบตอง กล้วย นำไปวางไว้ตามใต้ต้นไม้ แขวนไว้ตามกิ่งไม้ ตามบริเวณกำแพงวัดบ้าง (คนอีสานโบราณเรียกกำแพงวัดว่า ต้ายวัด) หรือวางไว้ตามพื้นดิน เรียกว่า "ห่อข้าวน้อย" พร้อมกับเชิญวิญญาณของญาติมิตร นำภัตตาหารไปถวายแด่พระภิกษุ สามเณร แล้วอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย โดยหยาดน้ำ (กรวดน้ำ) ไปให้ด้วย

มูลเหตุของความเป็นมา ของเรื่องการทำบุญข้าวประดับดินนี้ เกิดจากความเชื่อตามนิทานธรรมบท ว่า
"ญาติของพระเจ้าพิมพิสารได้ยักยอกเงินวัด ของสงฆ์ต่างๆ ไปเป็นของตนเอง (บ้างก็ว่าแอบกินของสงฆ์) ในสมัยพระกัสสปะพุทธเจ้า
พวกอดีตญาติของพระเจ้าพิมพิสารเหล่านั้น ครั้นตายไปแล้วได้ไปเกิดเป็นเปรตในนรกตลอดพุทธันดร เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่ พระสมณโคดมพุทธเจ้า ในภัททกัปป์นี้ ก็ไม่ได้ตรวจน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่พวกญาติเหล่านั้น พอตกกลางคืนพวกเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสารเหล่านั้น ได้มาส่งเสียงร้องอันโหยหวนและแสดงรูปร่างน่ากลัวให้แก่พระเจ้าพิมพิสารได้ยินและเห็น พอเช้าวันรุ่งขึ้นได้เสด็จไปถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงเล่าเรื่องราว ที่เป็นมูลเหตุให้พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงทราบ พระเจ้าพิมพิสารได้ทำบุญถวายทานอีก แล้วทรงอุทิศส่วนกุศลไปให้ พวกญาติที่ตายไปแล้วได้รับส่วนกุศลแล้ว ได้มาแสดงตนให้พระเจ้าพิมพิสารเห็นและทราบว่า ทุกข์ที่พวกญาติได้รับนั้นทุเลาเบาบางลงแล้ว เพราะการอุทิศส่วนกุศลของพระองค์"
ชาวอีสานจึงถือเอามูลเหตุนี้ ทำบุญข้าวประดับดิน ติดต่อกันมา

วิธีดำเนินการ
พอถึงวันแรม 13 ค่ำ เดือนเก้า ชาวบ้านเตรียมอาหาร มีทั้งคาวหวาน ได้แก่ เนื้อ ปลา เผือก มัน ข้าวต้ม ขนม น้ำอ้อย น้ำตาล ผลไม้ เป็นต้น และหมากพลู บุหรี่ไว้ไห้พร้อม เพื่อจัดทำเลี้ยงกันในครอบครัวบ้าง และทำบุญถวายพระภิกษุสามเณรบ้าง ส่วนสำหรับอุทิศให้ญาติที่ตาย ใช้ห่อด้วยใบตองกล้วย อาหารคาวห่อหนึ่ง อาหารหวานห่อหนึ่ง และหมากพลูบุหรี่ห่อหนึ่ง เย็บหุ้มปลาย แต่บางคนใส่ใบตองที่เย็บเป็นกระทงก็มี หรือหากไม่แยกกัน อาจเอาอาหารทั้งคาวหวาน หมากพลู บุหรี่ ใส่ในห่อหรือกระทงเดียวกันก็ได้ สิ่งของเหล่านี้ จะมากน้อยก็แล้วแต่ศรัทธา
พอเช้าวันรุ่งขึ้น คือวันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้า ตอนเช้ามืด คือ เวลาประมาณ 4 ถึง 6 นาฬิกา ชาวบ้านก็นำอาหาร หมากพลู บุหรี่ที่ห่อใส่กระทงแล้วไปวางไว้ตามพื้นดิน วางแจกไว้ตามบริเวณโบสถ์ ต้นโพธิ์ ศาลา ตามกิ่งไม้หรือต้นไม้ใหญ่ๆ ในบริเวณวัด พร้อมกับจุดเทียนไว้ และบอกกล่าวแก่เปรตให้มารับเอาสิ่งของและผลบุญด้วย
บางหมู่บ้าน จะเอาอาหารที่อุทิศให้แก่ผู้ตายหลังทำพิธีแล้ว ก็ฝังไว้ในดินก็มี เพื่อไม่ให้ผู้ใดผู้หนึ่งกินอาหารที่เป็นเดนเปรต เพราะกลัวจะกลายเป็นเปรตไปด้วย การวางอาหารไว้ตามพื้นดิน หรือตามที่ต่างๆ เพื่อจะให้พวกเปรตมารับเอาของอุทิศให้ได้ง่าย โดยไม่ต้อง มีพิธีรีตอง เสร็จพิธีอุทิศผลบุญส่งไปให้เปรตแล้ว ชาวบ้านก็จะนำอาหารที่เตรียมไว้อีกส่วนหนึ่ง ไปตักบาตรและถวายทานแด่พระภิกษุ สามเณรห่อข้าวน้อย บุญข้าวประดับดิน

การวางข้าวประดับดิน
มีการสมาทานศีลฟังเทศน์ และกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับต่อไป การทำบุญข้าวประดับดิน บางท้องถิ่นมีการห่ออาหารคาว อาหารหวาน หมาก พลู บุหรี่ ไปวางไว้ตามที่ต่างๆ บริเวณวัด ภายหลังการถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณรแล้วก็มี เป็นเสร็จพิธีทำบุญข้าวประดับดินกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศล บุญข้าวประดับดินการวางห่อข้าวน้อย บุญข้าวประดับดิน

ข้อสังเกต
การที่ชาวบ้านนำข้าวปลาอาหาร ไปวางไว้ตามข้างวัดบ้าง ข้างกำแพงบ้าง ผูกไว้ตามกิ่งไม้บ้าง ด้วยเข้าใจว่า ญาติที่ได้รับการปลดปล่อยจากนรก จะได้มากินในวันเดือนดับนี้ จะเป็นไปได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องเหลือวิสัยที่จะชี้ตรงๆ ว่า ญาติเขาเหล่านั้นจะได้รับจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือ
1. เป็นการให้อาหารแก่สัตว์จรจัด สัตว์บางจำพวกที่ไม่มีเจ้าของเลี้ยงดู บางวันได้กินอาหาร บางวันก็ไม่ได้กิน อดโซหิวโหยมาตลอดปี ได้กินอิ่มก็ในวันนี้ นับว่าเป็นความฉลาดน่าชมเชย ของบัณฑิตผู้บัญญัติลักษณะการทำบุญข้าวประดับดินนี้อย่างมากทีเดียว
2. พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญ มีเรื่องมากมายที่ท่านกล่าวไว้ในพระสุตตันตปิฎก โดยเฉพาะในธรรมบทขุททกนิกาย ธัมมปทัฎฐกถา ภาค 2 เรื่องมัฏฐกุณฑลี

พระพุทธเจ้าทรงตรัสแก่มัจฉริยพรหมณ์ พ่อของมัฎฐกุณฑลี เมื่อมัฎฐกุณฑลี ลูกชายมีชีวิตอยู่ป่วยลง พ่อไม่ยอมรักษาเพราะกลัวเงินหมด แต่พอมัฏฐกุณฑลี ผู้ลูกชายตายแล้ว พ่อเอาทั้งข้าวทั้งของไปกองให้ลูก แล้วร้องไห้อาลัยหาในป่าช้า บ่นเพ้อให้ลูกมาเอาของ ห่อข้าวประดับดิน พระพุทธองค์ตรัสว่า เปล่าประโยชน์ที่จะเอาข้าวเอาของไปทำเช่นนั้น เพราะคนตายแล้ว เขาก็ไปตามคติ (สุคติ ทุคติ) ของเขา ไม่มีวันย้อนกลับมา รับสิ่งของเหล่านั้นแต่อย่างใด ควรจะทอดทานให้แก่สมณชีพราหมณ์ คนยากจน และสัตว์ดิรัจฉาน ของเหล่านี้จะมีอานิสงส์ งอกเงยไปถึงแก่เปรตชนผู้ล่วงลับไปแล้ว เพราะพระสงฆ์ เป็นเนื้อนาบุญ จะเป็นไปได้ไหมว่า พระพุทธองค์ไม่อยากจะให้ของเหล่านั้น ต้องเน่าหรีอเสียทิ้งโดยเปล่าประโยชน์สำหรับของที่ให้แล้ว วางประดับไว้ตามดินที่เรียกว่า ข้าวประดับดิน ในบุญนี้ก็มีเพียงอาหาร ผู้ได้กินอาหารนิ้โดยตรง ที่เห็นๆ ก็คือสัตว์เดียรัจฉาน ตามนี้ก็ถือว่า ถูกต้องตามพุทธประสงค์แล้ว
สำหรับการแจกห่อข้าวน้อยในบุญประดับดินนี้ นิยมแจกตอนเช้า ตั้งแต่ตี 4 จนถึงย่ำรุ่ง ไม่นิยมแจกนอกวัดด้วย ฮีตที่ ๙ บุญข้าวประดับดินหรือบุญเดือนเก้า นักปราชญ์อีสานโบราณได้กล่าวไว้เป็นบทผญา โดยได้พรรณนาถึงความอุดมสมบูรณ์และประเพณีการทำบุญในเดือนนี้ว่า...

เดือนแปดคล้อยเห็นลมทั่งใบเสียว
เหลียวเห็นหมู่ปลาขาวแล่นมาโฮมต้อน
กบเพิ่นนอนคอยท่าฝนมาสิได้ม่วน
ชวนกันลงเล่นน้ำโห่ฮ้องซั่วแซว
เดือนเก้ามาฮอดแล้วบ้านป่าขาดอน
เห็นแต่นกเขางอยคอนส่งเสียงหาซู้
เถิงระดูเดือนเก้าอีสานเฮาทุกท้องถิ่น
คงสิเคยได้ยินบุญประดับดินกินก้อนทานทอดน้อมถวาย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
http://ประเพณี.net
http://www.lib.ubu.ac.th
http://www.isangate.com