บ้านห้วยทับช้าง หมายถึง หมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ริมลำน้ำซึ่งเป็นที่พักช้างชั่วคราว
ประวัติบ้านห้วยทับช้าง
หมู่ 7 ตำบลห้วยพิชัย อำเภอปากชม จังหวัดเลย
ความหมายของชื่อหมู่บ้าน
หมู่บ้านนี้ตั้งชื่อตามชื่อของลำห้วยที่ไหลผ่าน คือ ห้วยทับช้าง
ห้วย หมายถึง ลำน้ำที่ไหลจากภูเขา
ทับ หมายถึง ที่อยู่ชั่วคราวในป่า
ทับช้าง หมายถึง ที่พักช้าง
ช้าง หมายถึง สัตว์สี่เท้าชนิดหนึ่งโตกว่าสัตว์สี่เท้าทั้งปวง มีงวงและงา
บ้านห้วยทับช้าง หมายถึง หมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ริมลำน้ำซึ่งเป็นที่พักช้างชั่วคราว
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน
ตามคำบอกเล่า เล่าว่าในสมัยก่อนในบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านนี้ เป็นป่าเขาและมีสัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก ครั้งหนึ่งได้มีโขลงช้างมาอาศัยเพื่อหาอาหารอยู่บริเวณลำห้วยที่อยู่ในบริเวณนี้ ซึ่งต่อมาได้ตั้งชื่อลำห้วยนี้ว่า ห้วยทับช้าง คำบอกเล่าอีกกระแสหนึ่งเล่าว่า ในสมัยก่อนเมื่อประมาณ 50 ปี ก่อนนั้น ป่าในแถบนี้อุดมไปด้วยป่าไม้ที่มีค่า พวกลากซุง ซึ่งมีช้างเป็นพาหนะได้มาตั้งทับ (บริเวณที่อาศัยชั่วคราว)ที่บริเวณลำห้วยนี้เพื่อทำการลากซุงรับจ้าง ชาวบ้านในแถบนั้นจึงได้ตั้งชื่อลำห้วยดังกล่าวนี้ว่า ห้วยทับช้าง ต่อมาเมื่อมีประชาชนได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณลำห้วย ทับช้างนี้ จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านห้วยทับช้าง ประมาณ พ.ศ.2509 มีผู้มาอยู่อาศัยมี 3 ครัวเรือน นายอิน ทาบัว, นายคูณ จันทร์ปิตุ, นายทวี พันผุย รวมประชากรทั้งหมด 12 คน ประวัติการตั้งชื่อหมู่บ้าน เนื่องจากมีพ่อค้าช้างมาพักแรมตามลำห้วยตลอดลำห้วย เลยตั้งชื่อ ลำห้วยทับช้าง ต่อมาปี 2524 มีการคัดเลือกผู้ปกครองหมู่บ้านขึ้น คนแรกคือนายสง ทาบัว คนต่อมาคือนายหย่วน บุญตอม, นายสุภาพ แก้วที และนายไพยูน ดีอุย ตามลำดับ จนกระทั่งปัจจุบันผู้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านคือนายสมพงษ์ พรมพิทักษ์
ลักษณะที่ตั้งของหมู่บ้าน
สภาพทั่วไป
สภาพโดยทั่วไปเป็นเขตที่ราบบนภูเขาและที่ราบระหว่างภูเขา ซึ่งใช้เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรและใช้เป็นที่อยู่อาศัย
สภาพทางภูมิศาสตร์
สภาพทางภูมิศาสตร์บ้านห้วยทับช้าง หมู่ 7 เป็นเขตที่ราบติดลำน้ำโขง ซึ่งใช้เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรและใช้เป็นที่อยู่อาศัย
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับบ้านโป่งสำราญ หมู่ 6
ทิศใต้ ติดต่อกับบ้านโนนสวรรค์ หมู่ 8
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลปากชม
ผู้นำชุมชน
1. นายสง ทาบัว ผู้ใหญ่บ้าน
2. นายหย่วน บุญตอม ผู้ใหญ่บ้าน
3. นายสุภาพ แก้วที ผู้ใหญ่บ้าน
4. นายไพยูน ดีอุย ผู้ใหญ่บ้าน
5. นายสมพงษ์ พรมพิทักษ์ ผู้ใหญ่บ้าน
แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
การท่องเที่ยวเชิงเกษตร
ผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่สำคัญๆ ของหมู่บ้าน
ผลผลิตด้านเกษตรกรรม เช่น มะม่วง ลำไย ส้มโอ ส้มเขียวหวาน มะขามหวาน ข้าวโพด ข้าวไร่ ผักสวนครัว เช่น ถั่วฝักยาว มะเขือ มะเขือม่วง ตะไคร้ พริก กล้วยน้ำว้า ใบตองกล้วย ฯลฯ
ประเพณี / วัฒนธรรม
ด้านขนบธรรมเนียมประเพณีในบ้านห้วยทับช้างได้ยึดหลักจารีตประเพณีที่เคยปฏิบัติมาแต่มีบางอย่างที่หดหายและได้ลดความสำคัญลง ประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านคือการทำบุญประทายข้าวเปลือก หรือบุญประจำปีของหมู่บ้าน
ข้อมูลจาก ประวัติศาสตร์หมู่บ้านและชุมชนในจังหวัดเลย อำเภอปากชม โดย กศน.อำเภอปากชม จังหวัดเลย โครงการหนังสือสามัญประจำบ้าน สำนักงาน กศน. จังหวัดเลย พ.ศ.2553